http://mc15chap.igetweb.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 ทำเนียบ อศจ.ทบ.

 ผู้บังคับบัญชา

 ทำเนียบ อศจ.มทบ.๑๕

ภารกิจ

ประวัติอนุศาสนาจารย์

ผู้ดูแลระบบ

ปฎิทิน

« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    

ภาพกิจกรรม

คุณธรรมสำหรับทหารใหม่

นานาสาระน่ารู้

อดีตกาลของชีวิต

สถิติ

เปิดเว็บ04/08/2009
อัพเดท15/03/2019
ผู้เข้าชม1,012,358
เปิดเพจ1,768,039
iGetWeb.com
AdsOne.com

คุณธรรมสำหรับทหารใหม่ ๖ ประการ

คุณธรรมสำหรับทหารใหม่ ๖ ประการ

๑. ความรักประเทศชาติ

๒. รักกรมกอง

๓. ความเสียสละ

๔. ความอดทน (ความฝันอันสูงสุด)

๕. เกียรติยศ  เกียรติศักดิ์ของทหาร

๖. วินัยทหาร

ความรักประเทศชาติ 

                กล่าวนำ  ( ๕ นาที )

                                                                ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง

                                                                คงจะต้องบังคับขับไส

                                                                เคียวเข็ญเย็นค่ำร่ำไป

                                                                ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย

                                                                เขาจะเห็นแก่หน้าค่าชื่อ

                                                                จะนับถือพงศ์พันธุ์นั้นอย่าหมาย

                                                                ไหนจะต้องเหนื่อยยากลำบากกาย

                                                                ไหนจะอายทั่วทั้งโลกา.

                                                                                                                ( ร.๖ )

                ทุกชีวิตที่เกิดมาในโลกนี้ ย่อมรักชีวิตตัวเอง ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงบริวาร รักทรัพย์สินและรักที่อยู่อาศัยของตน เมื่อมีใครมาเบียดเบียนต่อชีวิต ทรัพย์สินและที่อยู่อาศัย จึงต้องต่อสู้ป้องกัน ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดของชีวิต เพื่อความปลอดภัยของทรัพย์สินและที่อยู่อาศัย ....นี่คือสัญชาตญาณทั่ว ๆ ไป...

อธิบาย

                 ประเทศไทย

                 ประเทศไทย คือผืนแผ่นดินไทย  (แสดงแผนที่ประเทศไทยให้ทหารดูประกอบการอธิบาย) ที่คนไทยได้อยู่อาศัยในขณะนี้ มีรูปร่างลักษณะเหมือนขวานของนักรบโบราณ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเหมือนตัวขวาน ส่วนภาคใต้เป็นเหมือนด้ามขวาน

                ประเทศไทย มีขอบเขตจำกัด คือ ทางทิศเหนือจรดประเทศพม่าและลาว ทางทิศตะวันออกจรดประเทศกัมพูชา ทางทิศใต้จรดประเทศมาเลเซีย ทางทิศตะวันตกจรดประเทศพม่าและมหาสมุทรอินเดีย

                นี้แหละ  คือ ผืนแผ่นดินไทยในปัจจุบัน ซึ่งคนไทยทุกคนมีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมาย ที่จะอยู่อาศัยได้ทุกแห่งและประกอบอาชีพสุจริตได้ทุกทาง

                ในอดีต ประเทศไทยตั้งดินแดนถิ่นฐานอยู่ในประเทศจีนปัจจุบัน รวมกันเรียกว่า "อาณาจักรน่านเจ้า" มีเมืองหลวงเรียกชื่อว่า " เมืองหนองแส " ตอนลุ่มแม่น้ำฮวงโห  แล้วอพยพลงมาทางใต้เรื่อย ๆ เพราะถูกจีนรุกราน จนถึงที่อยู่ปัจจุบันนี้ติดทะเลแล้ว จะเดินหน้าหรือถอยหลัง หันข้าง ก็ไม่มีทางที่จะไปไหนแล้ว จึงต้องยืนหยัดสู้ตายอยู่ที่เดิม

                ประเทศไทยแบ่งเขตจังหวัดออกเป็น ๗๖ จังหวัด มีกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลาง คือเมืองหลวง มีการติดต่อคมนาคมทั่วถึงกันทุกจังหวัด ทั้งทางบก เรือ อากาศและสื่อสาร วิทยุ ไปรษณีย์ โทรเลข ติดต่อกันได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง

                ชาติไทย 

                ชาติไทย หมายถึงคนไทยทุกคน ที่อยู่อาศัยในประเทศไทยนี้ จะเป็นคนไทยโดยสายเลือด ซึ่งเรียกว่า " เชื้อชาติไทย " ก็ตาม หรือจะเป็นคนไทยโดยเลือดประสมหรือแปลงชาติ ซึ่งเรียกว่า "สัญชาติไทย" ก็ตาม รวมเรียกว่า "คนไทย" และเมื่อรวมคนไทยทั้งเชื้อชาติและสัญชาติเข้าด้วยกัน เรียกว่า ชาติไทย 

ไทย แปลว่า อิสระ  คือ ไม่เป็นทาสใคร

                คนไทยทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ ทุกคนมีสิทธิ์รับผิดชอบในความเสื่อมและความเจริญของประเทศชาติร่วมกัน

                ในอดีต ชนชาติไทยเป็นชาติยิ่งใหญ่ชาติหนึ่ง มีอารยธรรมวัฒนธรรมสูงส่งมาแล้ว มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ไม่แพ้ประเทศอื่น นักประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า ประเทศไทยเคยเจริญรุ่งเรืองด้วยขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีมาแล้ว ประมาณ ๔,๐๐๐ ปี คือเจริญมาก่อนฝรั่งชาวยุโรป

                ถิ่นเดิมของไทยตั้งอยู่ในที่ซึ่งเป็นผืนแผ่นดินใหญ่ของประเทศจีนปัจจุบันนี้ ระยะแรก ๆ ตั้งอยู่ตอนใต้แม่น้ำเหลือง " ฮวงโห " เมื่อถูกจีนรุกรานจึงถอยลงมาทางใต้ตามลำดับ

                ยุคที่ไทยรุ่งเรืองที่สุดในขณะที่อยู่ในประเทศจีน คือยุคอาณาจักรน่านเจ้า รวมก๊กต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เช่น ก๊กเสฉวนและยูนาน ๖ ก๊ก มีเมืองหลวงอยู่ที่เมือง " หนองแส " เคยรบชนะจีนหลายครั้ง ตั้งอยู่ในอาณาจักรนี้ประมาณปี พ.ศ.๑๑๙๒ และอยู่ได้ถึง ๗๐๐ ปีเศษ

                ไทยยุคสุวรรณภูมิ

                ครั้นต่อมา ไทยน่านเจ้าถูกกุบไลข่าน เชื้อสายตาด ซึ่งมาเป็นใหญ่อยู่ในจีนยกกองทัพมาตี ไทยสู้ไม่ได้ จึงได้ทิ้งถิ่นฐานอพยพลงมาทางใต้ สู่สุวรรณภูมิ เพราะเรารักความสงบ รักความเป็นไทย เป็นอิสระไม่อยากเป็นทาสของใคร เมื่อเรามีกำลังน้อยสู้เขาไม่ได้ จึงยอมทิ้งแผ่นดินหนีลงมาทางใต้ โดยแบ่งการอพยพลงมาเป็น ๒ พวก ๒ ทาง คือ

                พวกหนึ่ง อพยพไปทางตะวันตก ตามลุ่มแม่น้ำคง (สาลวิน) และบางพวกอพยพขึ้นไปทางเหนือของอินเดีย ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในแคว้นอัสสัม เรียกว่า " ไทยอาโหม " พวกที่อพยพมาทางแม่น้ำสาลวิน ปัจจุบันตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศพม่า แถวซานสเตรส เชียงตุง เรียก " ไทยใหญ่ "

                อีกพวกหนึ่ง อพยพลงมาตามลุ่มแม่น้ำโขง คือพวกไทยเราปัจจุบันและประเทศลาวทุกวันนี้ พวกนี้ เรียกว่า " ไทยน้อย "

                ไทยน้อย  ได้ตั้งอาณาจักรใหญ่ ๆ รวม ๔ อาณาจักร คือ

                ๑. อาณาจักรลานนา           ได้แก่ ภาคพายัพเดี๋ยวนี้มีเมืองหลวงอยู่ที่ เชียงแสน เชียงใหม่

                ๒. อาณาจักรลานช้าง        ได้แก่ ประเทศลาวปัจจุบันนี้ มีเมืองหลวงอยู่ที่หลวงพระบางและเวียงจันทร์

                ๓. อาณาจักรสุโขทัย  ได้แก่ พื้นที่จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ เป็นต้น ตั้งเมืองหลวงอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย

                ๔. อาณาจักรอยุธยา            ได้แก่ พื้นที่จังหวัดอยุธยา สุพรรณบุรี เป็นต้น ตั้งเมืองหลวงอยู่ที่อยุธยา

                ยุคสำคัญของไทย  ชนชาติไทยได้เป็นใหญ่ในแหลมทอง มีอาณาจักรกว้างขวางไพศาล เกือบตลอดแนวดินแดนแหลมทอง มีอยู่ ๓ สมัย คือ

                ๑. สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

                ๒. สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

                ๓. สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

                ใน ๓ แผ่นดินนี้ เป็นยุคที่ไทยเรามีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลที่สุด

เหตุที่ทำให้ไทยเรารุ่งเรืองเช่นนั้น เฉพาะที่สำคัญมี ๒ ประการ คือ

                ๑. ความรักประเทศชาติ ใน ๓ สมัยนั้น คนไทยทุกคนทุกหมู่ทุกคณะ ได้เห็นโทษแห่งความเป็นทาสที่เคยถูกชาติอื่นกดขี่รุกรานว่า มันร้ายกาจเพียงใด ต่างจึงมีใจรักประเทศชาติอย่างแท้จริง เห็นชาติสำคัญกว่าตน เห็นประโยชน์ของประเทศชาติสำคัญกว่าประโยชน์ของตน จึงยอมเสียสละประโยชน์

ส่วนตัว ตลอดเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อปกป้องคุ้มครองประเทศชาติด้วยความกล้าหาญ

                ๒. ไทยมีผู้นำหรือประมุขที่เข้มแข็งสามารถ พระมหากษัตริย์ทั้ง ๓ พระองค์ ซึ่งเป็นผู้นำคนไทยสมัยนั้น ทรงเข้มแข็งสามารถ ยอมสละทุกอย่างแม้แต่ความสุขส่วนพระองค์ เพื่อประเทศชาติ จนเป็นที่เกรงขามของศัตรูทั่วไป

                ยุคปราชัย  ชาติไทยเราเคยปราชัยย่อยยับตกระกำลำบากมาแล้วหลายครั้งหลายหน ถูกต่างชาติที่ใหญ่ ๆ รังแก ข่มเหง หลายครั้ง คือ

                ๑. ถูกจีนรุกราน  ไทยต้องอพยพลงมาทางใต้หาแผ่นดินอยู่ใหม่ที่แหลมทองปัจจุบัน

                ๒. สมัยสมเด็จพระมหินทราธิราช พ.ศ.๒๑๑๒  กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งแรก ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าถึง ๑๕ ปี

                ๓. สมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ พ.ศ.๒๓๑๐  กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ ๒

                ๔. สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ - ๕  สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นยุคที่ไทยเราถูกรังแกข่มเหงและถูกเขาปล้นเอาแผ่นดินมากที่สุด แผ่นดินไทยถูกเฉือน พี่น้องไทยถูกพราก เพราะมหาอำนาจทางยุโรป คือ ฝรั่งเศส อังกฤษ ซึ่งกำลังล่าเมืองขึ้นอยู่ในขณะนั้น แต่ก็เคราะห์ดีแม้จะเสียแผ่นดินไปมาก ก็ยังรักษาเอกราชเอาไว้ได้ ดินแดนที่เสียไปในสมัยนั้น คือ

                - พ.ศ.๒๔๐๖ เสียอาณาจักรเขมรแก่ฝรั่งเศส

                - พ.ศ.๒๔๓๖ เสียแคว้นสิบสองจุไทย หัวพันทั้งห้าทั้งหกฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและเกาะทั้งหมดแก่ฝรั่งเศส

                - พ.ศ.๒๔๔๖ เสียหลวงพระบาง จำปาศักดิ์และดินแดนฝั่งขวาของไทยแก่ฝรั่งเศส

                - พ.ศ.๒๔๔๙ เสียพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณแก่ฝรั่งเศส

                - พ.ศ.๒๔๕๑ เสียไทรบุรี กะลันตัน ตรังกานู และปะลิส แก่อังกฤษ

                ไทยต้องเสียดินแดนไปในคราวนั้น ประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร

                เหตุที่ไทยต้องสูญเสียเช่นนั้น ก็เพราะ

                ๑. มิใช่ไทยเราขี้ขลาดอ่อนแอ แต่เพราะไทยเราแตกสามัคคีกัน

                ๒. ไทยทรยศต่อชาติ  เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวไปเข้ากับข้าศึก

                ๓. ผู้นำเห็นแก่ความสุขส่วนตัว

                ๔. กิจการทหารของชาติได้รับการบำรุงสนใจน้อย

                ยุคปัจจุบัน  ในอดีต การปกครองของประเทศไทยเราเป็นระบอบราชาธิปไตย คือพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นผู้นำในทุกด้าน  แม้แต่การศึกสงคราม พระมหากษัตริย์ก็ทรงเป็นจอมทัพออกรบ และปัจจุบันนี้ ได้เปลี่ยนการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตย  โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมาย    เปลี่ยนแปลงเมื่อพ.ศ.๒๔๗๕ รัชกาลที่ ๗

                ปัจจุบันนี้ประเทศไทยเรา ปกครองตามระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของชาติ เป็นมิ่งขวัญของชาวไทย มีคณะรัฐบาลซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะ บริหารราชการแผ่นดิน โดยมีสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเลือกตั้งมาจากประชาชน เป็นผู้ทำหน้าที่นิติบัญญัติ คือออกกฎหมายต่าง ๆ และควบคุมนโยบายในการบริหารประเทศของรัฐบาล คนไทยทั้งชาติมีศูนย์กลางการปกครองหรือเรียกว่า เมืองหลวงอยู่ที่ " กรุงเทพมหานคร "  มีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในด้านศีลธรรมวัฒนธรรม ยึดหลักศีลธรรมของศาสนาเป็นเครื่องดำเนินชีวิต มีพระมหากษัตริย์เป็นมิ่งขวัญและเป็นที่รวมพลังทางจิตใจ         ศาสนาใหญ่ ๆ ที่เป็นหลักส่วนมาก คนไทยนับถือพุทธศาสนา รองลงมา ก็คือศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนาพราหมณ์

                เครื่องหมายของชาติ  เรามีเครื่องหมายที่ใช้เป็นตัวแทนของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์อยู่ คือ " ธงไตรรงค์ " (นำธงชาติมาให้ทหารดู) มีอยู่ ๓ สี คือ

                ๑. สีแดง  หมายถึง ชาติ  เป็นเครื่องหมายของชนชาติไทย

                ๒. สีขาว หมายถึง ศาสนา  เป็นเครื่องหมายของพระพุทธศาสนา  สีขาว เป็นเครื่องหมายแห่งความบริสุทธิ์

                ๓. สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์

                คนไทยแบ่งออกเป็น ๕ กลุ่ม คือ

                ๑. กสิกร  มีหน้าที่ในการกระทำเกษตรกรรม คือทำไร่ ทำนา ทำสวน เพาะปลูก กลุ่มนี้มีมากในประเทศเรา เพราะแผ่นดินไทยเหมาะแก่การเพาะปลูก

                ๒. อุตสาหกร คือกลุ่มประกอบการอุตสาหกรรม เช่น โรงงาน ผลิตผลต่าง ๆ มีโรงเลื่อย โรงทอผ้า โรงยาสูบ เป็นต้น

                ๓. พ่อค้า  คือคนกลาง ที่รับซื้อผลิตผลของกสิกรและอุตสาหกรมาขายให้แก่ผู้บริโภคอีกทีหนึ่ง

                ๔. ข้าราชการ  มีหลายเหล่า เช่น ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ครู เป็นต้น ทำหน้าที่รับราชการ รับใช้ประชาชน บริหารประเทศ ประเทศชาติจะเจริญรุ่งเรือง หรือล่มจม  กลุ่มข้าราชการเป็นผู้มีส่วนสำคัญในเรื่องนี้

                ๕. นักบวช  ยังมีคนอยู่อีกกลุ่มหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งมีภาวะและความเป็นอยู่แตกต่างจาก ๔ กลุ่มที่ว่ามาแล้ว กลุ่มนี้ คือชาววัด ได้แก่ พระสงฆ์ สามเณร ในพระพุทธศาสนาหรือนักบวชในศาสนาอื่น ๆ ท่านเหล่านี้ เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสืบต่อพระศาสนา มีความมักน้อย สันโดษ เป็นผู้นำทางจิตใจของประชาชนให้ประพฤติปฏิบัติชอบ ศาสนาเป็นแหล่งเกิดแห่งศีลธรรม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีงามของชาติไทย เพราะฉะนั้น ศาสนาจึงเป็นสถาบันที่ค่อนข้างมีความมั่นคงของประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน  ประเทศไทยเราที่เจริญรุ่งเรืองมาแล้ว มีศาสนาเป็นส่วนกล่อมเกลาอัธยาศัยจิตใจของคนไทยมิใช่น้อย ถ้าใครแตะต้อง ทำลายศาสนา ก็เหมือนทำลายหัวใจของคนไทยทั้งชาติ

                - พระมหากษัตริย์  ทรงเป็นมิ่งขวัญ  เป็นที่รวมจิตใจของคนไทยคู่กันกับพระศาสนา เพราะฉะนั้น ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ๓ สิ่งนี้ จึงเป็นธงชัยแห่งชีวิตประจำใจของชาวไทยที่จะไม่ยอมให้ใครมาแตะต้องทำลายเป็นอันขาด.....

                - รักประเทศชาติ  คนไทยเรานั้น รักถิ่น รักพวกพ้อง หมู่คณะ ถึงแม้จะตัวเล็ก แต่จิตใจเข้มแข็ง กล้าหาญ พร้อมที่จะยอมเสียสละชีวิต ต่อสู้ศัตรู เพื่อปกป้องผืนแผ่นดิน เหมือนมดแดงและแมลงผึ้งปกป้องรังของมันเมื่อถูกรบกวน  มดแดงกับแมลงผึ้ง มันเป็นสัตว์รักถิ่นที่อยู่ รักรังของมัน รักพวกพ้องหมู่คณะอย่างยอดเยี่ยม ช่วยกันทำงานไม่เกี่ยงงอน เมื่อถูกข่มเหงรังแก ก็พร้อมกันต่อสู้ ไม่ยอมถอย ไม่คำนึงว่าผู้มารุกรานจะใหญ่โตขนาดไหน สู้ทั้งนั้น ถ้าเอาชนะไม่ได้ก็ยอมตาย โดยไม่ยอมเป็นทาสใคร.....มดแดงตัวเล็ก ๆ เคยเอาชนะช้างสารมาแล้ว (เล่าเรื่องช้างกับมดแดงประกอบ)

                - ศัตรูของชาติ  คนไทยทั้งชาติ รักความสงบสุข ไม่ชอบเบียดเบียนใครและไม่ชอบให้ใครมาเบียดเบียน แต่ถ้าใครมาเบียดเบียนก่อน เราก็พร้อมที่จะสู้จนคนสุดท้าย เพื่อป้องกันตัวเราและประเทศชาติของเรา เหมือนมดแดงและแมลงผึ้ง ต่อสู้เพื่อป้องกันตัวของมันและรังของมันฉะนั้น

                การป้องกันประเทศชาติ  คนเรานั้นประเสริฐกว่าสัตว์ รู้จักรักตัว รักญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงบริวาร รักถิ่นฐานบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ตลอดจนรักประเทศชาติ ช่วยกันสร้าง ช่วยกันบำรุง รักบ้านเมือง หากมีโจรผู้ร้ายมาปล้น มีศัตรูมารุกรานก็พร้อมกันต่อสู้ เพื่อรักษาแผ่นดินอันเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายที่บรรพบุรุษของเราได้เอาเลือดเอาเนื้อ เอาชีวิต และความลำบากยากเข็ญเข้าแลกไว้ เหมือนวีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน และวีรกรรมของท้าวสุรนารี เป็นตัวอย่าง (เล่าเรื่องประกอบการสอนด้วย)

                - การแสดงความรักประเทศชาติและป้องกันประเทศชาตินั้น เราอาจกระทำได้หลายทาง เช่น

                ๑. รักใคร่กลมเกลียวกันระหว่างคนไทยด้วยกันทุกคน ไม่แตกแยกสามัคคี

                ๒. ไม่เบียดเบียนข่มเหงทำร้ายกันเอง

                ๓. ช่วยเหลือคนชาติเดียวกันก่อนชาติอื่น

                ๔. บำรุงรักษาสมบัติของชาติ

                ๕. สละประโยชน์สุขส่วนตัว แม้กระทั่งชีวิตเพื่อประเทศชาติ

                ๖. ช่วยกันรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาติไว้ อย่าทำลาย

                ๗. ช่วยกันเป็นหูเป็นตาแทนเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ด้วยเห็นว่าสิ่งใด ผู้ใดทำการอันเป็นพิษเป็นภัยต่อชาติบ้านเมือง ก็แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเพื่อระงับเสีย

                เมื่อทุกคนกระทำเช่นนี้ ก็ชื่อว่า ได้เป็นผู้รักชาติ และช่วยกันป้องกันประเทศชาติ

สรุป

                - ให้ทหารซักถาม  หรือซักถามทหาร

                - ย้ำหัวข้อที่สำคัญให้ทหารฟัง

                - ในคราวที่ชาติบ้านเมืองต้องล่มจม บ้านแตกสาแหรกขาด ตกเป็นทาสของชาติอื่น เราก็จะรู้สึกเสียใจ เศร้าใจ หดหู่ใจ สลดใจ ในคราวที่เราเอาชนะศัตรูได้ บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง เราคนไทยทุกคนก็จะมีความภาคภูมิใจ มีความสุขใจ สบายใจ ทั้งนี้ ก็เพราะเราเป็นคนไทยคนหนึ่ง เราเป็นส่วนหนึ่งของชาติ มีส่วนได้ส่วนเสีย ร่วมสุขร่วมทุกข์กับชาติ เราทุกคนจึงรักประเทศชาติและยินดีสละชีพเพื่อชาติ ถึงแม้ตัวจะตาย แต่เราจะไม่ยอมให้ชาติตาย ในยุคของเรานี้ เราจะไม่ยอมให้ใครมาแตะต้องทำลายชาติของเราได้เป็นอันขาด

                - เราต้องรักษาชาติ

                - เราต้องบำรุงชาติ

                - เราต้องสละชีพเพื่อชาติ ฯ

---------------------------------

 

รักกรมกอง

กล่าวนำ

                เป็นธรรมดาของคนเรา ใครเกิดอยู่ที่ไหนหรือเคยอยู่ที่ใดนาน ๆ ก็อดที่จะรักถิ่นนั้น รักที่อยู่นั้นไม่ได้พวกเกิดในป่า บนเขา ก็รักป่ารักภูเขา คนที่เกิดที่ราบใกล้ทุ่งนาก็รักทุ่งนา คนเกิดแถบชายทะเล ก็รักชายทะเลถึงแม้จะจากถิ่นฐานไปนาน แสนนาน จิตใจก็ยังตระหวัดคิดถึงถิ่นเดิมอยู่เสมอ แม้จะไปอยู่ที่ถิ่นที่เจริญกว่าถิ่นฐานเดิมแล้ว ก็ยังอดคิดถึงไม่ได้ ความรักความคิดถึงเช่นนี้ เกิดขึ้นด้วยความบริสุทธิ์ใจจริง ๆ

                - นอกจากจะรักถิ่นแล้ว คนเรายังรู้จักรักญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงบริวาร รักพวกรักหมู่คณะอีกด้วย เราเป็นญาติมิตรใคร เป็นพรรคพวกของใคร ถ้ามีใครมาว่าหรือกระทำการอันใดแก่ญาติมิตรหรือแก่พรรคพวกของเราแล้ว เราก็อดที่จะเดือดร้อนหรือเจ็บแค้นแทนไม่ได้ เขาทำพวกเราก็เหมือนเขาทำกับตัวเรา.......เมื่อมีการต่อสู้กัน เราก็เต็มใจช่วยพวกของเรา ช่วยทางกายไม่ได้ก็เอาใจช่วย เป็นกำลังใจให้พวกเรา ยินดีร่วมสุขร่วมทุกข์กับพวกเรา และถ้าจำเป็นจริง ๆ ก็อาจตายแทนพวกของเราได้......

                - ถ้าเราดูการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ เช่น มวยก็ดี ฟุตบอลก็ดี หรือกีฬาอื่น ๆ เป็นต้น ที่มีการแข่งขันกันระหว่างชาติคนไทยกับชาติอื่น ๆ คนไทยทุกคนก็จะเข้าข้างนักกีฬาไทย เอาใจช่วย ขอให้ไทยชนะ ถ้ามีวิธีใดที่จะช่วยให้ฝ่ายเราชนะได้ ก็จะช่วยเพราะการรักพวกของเรานั้นเอง ถ้าพวกของเราชนะก็พลอยดีใจปลื้มใจด้วย แต่ถ้าแพ้ก็เสียใจจริง ๆ ด้วยเช่นกัน

                - ใกล้เข้ามาอีก เราอยู่โรงเรียนเดียวกัน เป็นทหารกรมกองเดียวกัน ถ้าจัดให้มีการแข่งขันกันเองขึ้น เช่น แข่งฟุตบอล นักเรียนคนไหนอยู่ฝ่ายทีมใด ก็จะเอาใจช่วยทีมของตน ถ้าเป็นทหารก็จะช่วยกันเชียร์ทีมของตนเช่นกัน อยากให้ฝ่ายตนชนะ........ทั้งนี้ เพราะเรามีเลือดแห่งความรักหมู่ รักคณะ เป็นสัญชาตญาณประจำตัวอยู่นั่นเอง..........

อธิบายความ

                - ทหารทุกคนต้องมีความภูมิใจว่า ตนเองเป็นผู้มีโชคดี ที่เป็นผู้ได้รับเกียรติ รับการคัดเลือกเข้ามาเป็นทหาร เป็นรั้วของชาติ ได้เข้ามาร่วมหมู่ร่วมคณะของผู้กล้าหาญ  ผู้เป็นวีรชน   ยอมสละชีวิต เลือดเนื้อ เพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของประเทศชาติ..ทหารเรามีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระประมุข เป็นจอมทัพ เราจึงเป็นผู้มีเกียรติเสมือนอยู่ใกล้ชิดพระยุคลบาทของพระองค์ท่านตลอดเวลา 

                - การมาเป็นทหาร หมายความว่า มาเป็นรั้วของชาติ ชาติเรานั้นใหญ่และมีความสำคัญยิ่ง รั้วที่จะป้องกันรักษาของใหญ่ของสำคัญได้ ก็ต้องเป็นรั้วที่แข็งแรง มีความมั่นคง ทหาร แปลว่า "หนุ่ม" หรือ  "ชายฉกรรจ์" คนหนุ่ม คนฉกรรจ์ เป็นคนที่มีความแข็งแรง สมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ มีความกล้าหาญอดทน พร้อมที่จะทำงานหนัก ๆ งานใหญ่ ๆ และงานสำคัญ ๆ เพราะฉะนั้น ทางบ้านเมือง จึงได้เลือกเอาคนหนุ่ม คนฉกรรจ์มาเป็นทหาร มาเป็นรั้วของชาติ

                ๑. การเป็นทหาร มิใช่เพียงการสวมเครื่องแบบ แบกอาวุธเท่านั้น......แต่จะต้องฝึกฝนอบรมให้เป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญในวิชาของนักรบทุกด้าน ฝึกร่างกายให้แข็งแรง ว่องไว รวดเร็ว ชำนาญในการใช้อาวุธในการต่อสู้ป้องกัน ในทางจิตใจก็ต้องฝึกให้เป็นผู้มีน้ำใจเสียสละอดทนกล้าหาญสามัคคี ซื่อสัตย์ สุจริต รักหมู่คณะ รักกรมกอง ตลอดจนประเทศชาติ เคารพเชื่อฟัง ปฏิบัติตามระเบียบวินัย เมื่อทหารพร้อมอยู่ในลักษณะดังกล่าวแล้ว จึงจะชื่อว่าเป็นรั้วของชาติอันแข็งแกร่ง เป็นที่เกรงขามของศัตรูทั้งผอง

                - เพื่อที่จะฝึกฝนอบรมในวิชาของนักรบดังกล่าวแล้ว เราจึงต้องออกจากบ้านมาอยู่ในกรมกองของเรา กรมกองของทหารแห่งแรก ก็คือ ค่ายทหาร เช่น (ค่ายสุรนารี ค่ายสุรศักดิ์มนตรี ค่ายเพชรบุรีราชสิรินธร และค่ายกาวิละ เป็นต้น) 

                - คำว่า "กรมกอง" นอกจากหมายถึงสถานที่อยู่ของทหารแล้ว ยังหมายถึงเหล่าและสังกัดของทหารอีกด้วย 

                - เหล่า ได้แก่ประเภท หรือพวกของทหาร ซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติแตกต่างกัน ตามความจำเป็นของกองทัพ   ทหารแต่ละคน จะได้รับการพิจารณาให้เข้าประจำเหล่า ตามความรู้ความสามารถของตน เช่น 

                "เหล่า" ราบ,ม้า,ปืนใหญ่,ช่าง,สารบรรณ,สื่อสาร,ขนส่ง,พลาธิการ,สรรพาวุธ,การสัตว์,แพทย์,สารวัตร เป็นต้น (มีภาพเครื่องหมายเหล่าแสดงประกอบ) 

                - สังกัด ได้แก่หน่วยทหารที่ขึ้นอยู่ในปกครอง คือ หมู่,หมวด,กองร้อย,กองพัน,กรม,กองพล,กองทัพ เป็นต้น ทหารทุกคนต้องมีสังกัด เพื่อประโยชน์ในการปกครอง การฝึกฝนอบรม การจัดกำลังรบ มีเครื่องหมายสังกัดเป็นที่สังเกต (แสดงเครื่องหมายสังกัดให้ดู)

                - เครื่องหมายสังกัด ประดับคอเสื้อด้านซ้าย (เพื่อจำง่ายก็คือ "หนังสือซ้าย เครื่องหมายขวา)

                - ทหารที่อยู่ในเหล่าไหน สังกัดใด ย่อมมีความรู้สึกรักเหล่า รักสังกัด รักกรมกองของตน รักเพื่อนทหารที่อยู่ร่วมเหล่า ร่วมสังกัดเดียวกันกับตน เหมือนคนในบ้านเดียวกัน

กรมกองให้อะไรแก่เรา

                - ก. กรมกองเป็นบ้านของเรา เมื่อเราอยู่บ้าน บ้านก็เป็นที่อยู่ของเรา เป็นที่ให้ความสุขแก่เรา เรามาเป็นทหาร กรมกองก็เป็นเหมือนบ้านของเรา ให้ความร่มเย็นเป็นสุขแก่เรา เราได้อาศัยกรมกองเป็นบ้าน เรามีที่นอน มีที่กิน มีสนามเล่นกีฬา ออกกำลังกาย มีโรงพยาบาล มีหมอคอยให้การรักษาเมื่อคราวเจ็บป่วยเรามีผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น เป็นผู้คอยแนะนำสั่งสอนตักเตือนเสมือนญาติผู้ใหญ่....กรมกองจึงเป็นประดุจร่มโพธิ์ร่มไทรที่ให้ความร่มเย็นและความสุขแก่เรา

                - ข. กรมกองคือเพื่อนตายของเรา เมื่อเราอยู่บ้าน บ้านเป็นที่รวมของญาติพี่น้องและคนที่เรารัก บ้านก็คือเพื่อนตายของเรา......แต่เมื่อเราเข้ามาเป็นทหารแล้ว กรมกองก็เป็นที่รวมของผู้กล้าหาญ ซึ่งเปี่ยมไปด้วยความรักชาติ พร้อมที่จะสละชีพเพื่อชาติ ยามสงคราม ยามที่ชาติเราถูกศัตรูรุกราน เราทุกคนจะเดินหน้าไปเพื่อต่อสู้ศัตรูป้องกันประเทศชาติ เราไปกันทั้งหมด ทั้งกรมกอง ผู้บังคับบัญชาทุก ๆ ชั้น เราไปด้วยกัน รบด้วยกัน ตายด้วยกัน ในยามนั้นเรารักกันยิ่งกว่าพี่น้อง - เป็นเพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์กันจริง ๆ

                - ค. กรมกองเป็นโรงเรียนของเรา เราอยู่บ้านได้รับการศึกษาเล่าเรียน จากโรงเรียนของรัฐบาลบ้าง ของเอกชนบ้าง แต่โรงเรียนเหล่านั้น ก็ไม่เหมือนบ้านของเรา.....แต่กรมกองเป็นทั้งบ้าน เป็นทั้งโรงเรียนกินนอนของเรา มีเครื่องอุปกรณ์การสอนและครูครบถ้วน พร้อมที่จะประสิทธิประสาทวิชาความรู้แก่เรา ผู้บังคับบัญชาทุกชั้น ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ปกครองและเป็นครูอาจารย์ของเรา กรมกองจึงเป็นโรงเรียนที่ให้ทั้งความรู้การฝึกฝนอบรมให้เราเป็นคนดี และเป็นนักรบที่มีความเข้มแข็งกล้าหาญอีกด้วย ทหารจะได้สิ่งเหล่านี้จากกรมกอง คือ.-

                                                                - ความมีสุขภาพดี

                                                                - มีร่างกายแข็งแรง

                                                                - มีลักษณะของชายชาติทหาร

                                                                - มีความรู้ฉลาดสามารถดี

                                                                - มีความเป็นคนดี มีศีลธรรม

                                                                                ฯ ล ฯ

รักกรมกอง

                - ในบรรดาสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย สุนัขได้รับการยกย่องจากมนุษย์ว่า เป็นสัตว์ที่รักเจ้าของ และรักบ้านที่อยู่มากที่สุด ความจำของสุนัขก็ดีมาก ที่เคยปรากฎเห็นมา เจ้าของที่เคยเลี้ยงมันจากไปร่วม ๑๐ ปี กลับไปมันยังจำเจ้าของเดิมได้ และรักเจ้าของอยู่ ส่วนการรักบ้านที่อยู่ของมัน แม้มันจะไปไกลเท่าใด มันก็พยายามจดจำหนทาง และหาทางกลับบ้านจนได้......ในด้านความซื่อสัตย์ภักดีต่อเจ้าของ สุนัขก็นับว่าเป็นสัตว์พิเศษ เช่น สุนัข "ย่าเหล" ของรัชกาลที่ ๖ เป็นสัตว์แสนรู้และรักนายมากที่สุด และรัชกาลที่ ๖ ก็ทรงรักมันมากด้วย (เล่าเรื่อง ย่าเหล ประกอบ)

                - คนที่จะจัดว่า เป็นคนดีหรือไม่นั้น ก็ต้องดูกันที่มีความรัก ความกตัญญู รู้คุณ และทดแทนคุณต่อบุคคลจึงจะจัดว่า เป็นคนดี

                - รักสถานที่ ทหารที่มีความรักกรมกอง จะไม่มักง่ายทำลายกรมกองของตัวเอง หรือแม้แต่ทำให้สกปรกทรุดโทรม แต่จะช่วยกันรักษาดุจบ้านของตน ช่วยกันทำความสะอาด ช่วยกันตกแต่งให้สวยงาม ประกวดประชันกันระหว่างหมวดต่อหมวด กองร้อยต่อกองร้อย เป็นต้น เช่น การจัดที่อยู่ที่นอน ให้สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย ห้องพระจัดให้สะอาด เหมาะสม มีเครื่องตั้ง เครื่องบูชาพร้อม ถ้าไม่มีช่วยกันจัดช่วยกันหา มีแล้วก็ช่วยกันรักษาให้อยู่ในสภาพ เรียบร้อย........เป็นต้น

                - รักหมู่คณะ การอยู่ร่วมกัน นอนร่วมกัน กินร่วมกัน สุขทุกข์ร่วมกัน รบร่วมกัน และตายร่วมกัน เป็นต้น เราจะไม่ได้พบได้เห็นในที่อื่น นอกจากแห่งเดียวเท่านั้น คือ "จากชีวิตในกรมกองของทหารเราเท่านั้นเอง การร่วมกันดังกล่าวแล้ว จะก่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจกันและกัน รักใคร่กัน นับถือกัน และตายร่วมกันได้

                ความรักผู้บังคับบัญชาและเพื่อนทหารด้วยกัน จะถึงขั้นสูงสุดก็ต่อเมื่อเราเข้าสู่สนามรบด้วยกัน ในยามนั้นทุกคนจะเป็นเพื่อนร่วมเป็นร่วมตายกันจริง ๆ ผู้บังคับบัญชาจะมีความห่วงใยทหาร ทหารจะรักใคร่ผู้บังคับบัญชา ช่วยกันป้องกันอันตราย ถึงคราวคับขันก็ยอมสู้ตาย ไม่มีใครหนีเอาตัวรอด เมื่อเพื่อนทหารด้วยกันถูกศัตรูล้อม ก็หาทางฝ่าอันตรายเข้าช่วยเหลือเหล่าเพื่อน เพื่อนบาดเจ็บก็ช่วยกันแบกหามมารักษาพยาบาลหรือเพื่อนตายแล้ว มีแต่ร่าง ก็ยังช่วยกันนำออกมา ช่วยทำศพและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ตามประเพณีนิยม  นี้แหละน้ำใจของผู้รักหมู่คณะ

                -รักเสียงเกียรติประวัติของกรมกอง กรมกองของทหารเรา ย่อมมีชื่อเสียงและเกียรติประวัติอันดีงาม มีวีรกรรมในทางทำการรบอันห้าวหาญมาแล้ว บางหน่วยได้รับการยกย่องสรรเสริญในสมรภูมิสงครามโลกมาแล้ว จนเป็นที่รู้จักกันดีทั่วไปในทั่วโลก เช่น กรมผสมที่ ๒๑ รักษาพระองค์ หรือ ร.๒๑ รอ. ในอดีตทหารกรมนี้ได้ออกไปสร้างวีรกรรมในสมรภูมิเกาหลี ร่วมกับทหารสหประชาชาติมาแล้ว จนได้รับสมัญญาว่า "พยัคฆ์น้อย" ซึ่งมีความหมายว่า "เป็นผู้กล้าหาญเหมือนพยัคฆ์ร้าย".............. 

                - เมื่อทหารคนใด ได้รับบรรจุเข้าไปกรมกองใดแล้ว ก็จะรู้สึกภาคภูมิใจ และได้รับเกียรติที่ทหารในกรมกองนั้นได้สร้างเอาไว้ด้วยความอดทนและเสียสละอย่างสูง ทหารทุกคนจะต้องรักษาเกียรติประวัติอันดีงามนั้นเอาไว้ให้สูงส่งอยู่เสมอ ไม่ทำลายเกียรติประวัติของกรมกองให้ตกต่ำ ช่วยกันเสริมสร้างเกียรติประวัติให้ดีเด่นยิ่ง ๆ ขึ้นไป.........

                วิธีแสดงความรักกรมกอง
                ก. ทหารต้องรักและภูมิใจทุกครั้งที่ได้สวมเครื่องแบบประดับเครื่องหมายเหล่าและสังกัด ทหารจะต้องแต่งกายให้เรียบร้อย เครื่องแต่งกายต้องสะอาด เครื่องหมายต้องขัดให้เป็นเงาวาวอยู่เสมอ และรักษากิริยาท่าทางให้องอาจสง่าอยู่เสมอ
                ข. ทหารจะต้องสำนึกว่า ตนเป็นผู้แทนของกรมกอง ถ้าเราทำดี กรมกองก็พลอยมีเกียรติได้รับยกย่องสรรเสริญไปด้วย ถ้าเราไปทำความชั่วเสียหาย กรมกองก็พลอยได้รับความเสื่อมเสียเกียรติไปด้วย จะเป็นที่เกียจชังของประชาชน ได้รับความดูหมิ่นเหยียดหยามจากหน่วยอื่น ๆ 

                ค. ทหารทุกคน จะต้องคอยแนะนำห้ามปรามเพื่อนทหารด้วยกัน เมื่อเห็นว่าเพื่อนจะทำความชั่ว เสื่อมเสียอันจะเป็นผลเสียหายมาสู่กรมกองของตน
                ง. ทหารทุกคน จะต้องพยายามสร้างชื่อเสียงให้แก่กรมกองของตน เช่น ประพฤติตัวเป็นคนดีช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ประสบภัยอันตรายต่าง ๆ เช่น ช่วยเด็กตกน้ำ ช่วยดับเพลิง ช่วยจับผู้ร้าย เป็นต้น 

                จ. ถึงคราวรบ รบตามหน้าที่ จนสุดใจขาดดิ้น โดยยึดสุภาษิตที่ว่า.-

                             "สงฺคาเม   เม  มตํ  เสยฺโย       ยญฺเจ  ชีเว  ปราชิโต"

                             "ยอมตายในสนามรบ  ดีกว่าจะมีชีวิตอยู่อย่างผู้แพ้"

สรุป

                - ให้ทหารซักถาม หรือซักถามทหาร

                - ย้ำหัวข้อสำคัญ

                - กล่าวสรุป

                - เราอยู่บ้าน เรารักบ้านเรา ปรารถนาให้บ้านของเรามีความเจริญที่สุด และพยายามทุกวิถีทางที่จะปรับปรุงบำรุงส่งเสริมบ้านของเราให้เป็นสวรรค์ในปัจจุบัน ฉันใด กรมกองของทหาร ทหารก็จะต้องรัก ปรารถนาให้กรมกองของเราดีที่สุด ฉันนั้น ทั้งนี้ ก็ด้วยการยอมเหน็ดเหนื่อย เพื่อสร้างคุณงามความดีให้แก่กรมกองจนสุดความสามารถที่ทหารทุกคนมีอยู่ ทำตัวของตัวให้เป็นทหารที่ดีที่สุด เพื่อเกียรติประวัติอันดีของกรมกอง

                - น้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ เมื่อไปรวมกันที่ทะเลแล้ว ก็จะกลายเป็นรสเค็มเหมือนกันหมดฉันใด ทหารทุกคน แม้จะมาจากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดต่างกัน แต่เมื่อมารวมกันอยู่ที่กรมกองแล้ว เราจะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือมีความดีเด่น มีความอดทน เสียสละกล้าหาญสามัคคี เหมือนกันหมด ฉันนั้น......

                                                - จะไม่ยอมให้กรมกองเสียชื่อเสียงเป็นอันขาด

                                                - จะพร้อมใจกันสร้างชื่อเสียงแก่กรมกอง

                                                - จะกอดคอกันตายเพื่อกรมกอง

-----------------------

 ความเสียสละ

กล่าวนำ

                         ใครรานใครรุกด้าว              แดนไทย

                   ไทยรบจนสุดใจ                      ขาดดิ้น

                    เสียเนื้อเลือดหลั่งไหล             ยอมสละ  สิ้นแล

                    เสียชีพไป่เสียสิ้น                   ชื่อก้อง เกียรติงาม

                     หากสยามยังอยู่ยั้ง               ยืนยง

                     เราก็เหมือนอยู่คง                 ชีพด้วย

                     หากสยามพินาศลง               ไทยอยู่  ได้ฤา

                     เราก็เหมือนมอดม้วย              หมดสิ้น สกุลไทย

                                                                             ( สยามานุสสติ, รัชกาลที่  ๖ )

                ในระหว่างการ "ได้" กับการ "เสีย" สองอย่างนี้ตามรู้สึกของคนทั่ว ๆ ไปแล้ว ใคร ๆ ก็ชอบแต่จะ "ได้" ไม่มีใครอยากเสียเลย เช่น ได้เงินได้ทองชอบ เสียเงินเสียทองไม่ชอบ ได้ชื่อเสียงเกียรติยศชอบ เสียชื่อเสียงเกียรติยศไม่ชอบ.....เป็นต้น แต่การได้กับการเสียนี้ คนที่ฉลาดมีความคิดไกล ๆ เขามีเหตุมีผล จะไม่ตัดสินใจง่าย ๆ อย่างที่ว่ามาแล้ว แต่เขาจะคิดถึงผลได้ผลเสียที่จะติดตามมาภายหลังอีกด้วย ถ้าได้แล้วมีผลเสียติดมาด้วย เขาจะต้องระวังหนักในเรื่องนั้น ถ้าไม่พอจะได้ หรือได้แล้วเสีย  เขาก็กลับไม่รับ เช่น.-

                  - ได้กิน                  แต่เสียท้อง

                  - ได้ของ                แต่เสียชื่อ

                   - ได้เงิน                 แต่เสียตัว เสียญาติ เป็นต้น

ได้แล้วมีเสียติดตามมาอย่างนี้ ไม่ต่างอะไรกับการกินขนมหวานเจือด้วยยาพิษ เวลากินอร่อย แต่กินแล้วตาย ได้แล้วเสียแบบนี้ คนที่โง่ชอบ แต่คนฉลาดเขาไม่ชอบ และพยายามหลีกหนีให้ไกลที่สุด........

                ตรงกันข้าม เรื่องเสียก็มิใช่เรื่องที่น่าเกลียดน่ากลัวไปเสียทั้งหมด ถ้าเราเสียแล้ว  ก็มีได้ติดตามมาภายหลังด้วย และที่ได้นั้นก็เป็นเรื่องดี เสียน้อยแต่ได้มาก อย่างนี้คนฉลาดเขาต้องการ เช่น.-

                      - เสียแรง               ได้เงินได้กำลัง

                      - เสียเงิน               ได้งานได้มิตรสหาย

                      - เสียชีวิต              ได้เกียรติยศ ชื่อเสียง เป็นต้น

เสียแล้วได้อย่างนี้ คนฉลาดยินดีที่จะเสียสละยิ่งนัก จะเห็นได้จากคติของนักรบที่ว่า

                       - เสียชีพ                อย่าเสียสัตว์

                       - เสียชีพไป่เสียสิ้น    ชื่อก้องเกียรติงาม

                        - สละชีพ              เพื่อชาติ

ขยายความ

                ความหมายของการเสียสละ การเสียสละ ได้แก่การยอมตัดใจยอมเสียยอมสละ ได้ทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั่งสิ่งที่ตนรัก และหวงแหน เพื่อประโยชน์ส่วนรวม และแก่บุคคลหรือสิ่งที่ตนรักยิ่งกว่า และในที่สุดยอมเสียได้แม้กระทั่งชีวิตของตนเอง อันเป็นยอดแห่งการเสียสละ

                - การเสียสละเป็นคุณธรรมที่ได้รับการยกย่องสรรเสริญอย่างสูง เป็นความจำเป็นสำหรับครอบครัว หมู่คณะ ประเทศชาติ ตลอดทั้งโลก การเสียสละเราจะเห็นได้แม้จากสัตว์บางจำพวก เช่น

                - แม่ไก่ คุ้ยเขี่ย ได้พบอาหารแล้ว ก็เรียกลูกมากิน เมื่อมีเหยี่ยวมารบกวนลูก มันก็จะสู้ ป้องกันเรียกลูกเข้าไปอยู่ใต้ปีก

                - สุนัข ที่รักเจ้าของบางตัว จะตรงเข้าต่อสู้กับศัตรูที่มาทำลายเจ้าของ ๆ มัน จนตัวตาย

                - มดแดง ที่ยอมตาย ต่อสู้ป้องกันศัตรูที่มาทำลายรังของมัน

                - แมลงผึ้ง จะพร้อมใจกันต่อสู้ศัตรูจนตัวสุดท้าย เพื่อปกป้องรังของมันไม่ให้ถูกทำลาย (มีภาพสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยยิ่งดี)

                - น้ำใจที่มีความเสียสละอย่างนี้ เป็นน้ำใจที่เด็ดเดี่ยวกล้าหาญ ในข้อนี้เราจะเห็นน้ำพระทัยขององค์พระประมุขของชาติทั้ง ๒ พระองค์ ในคราวที่พระองค์เสียสละความสุขส่วนพระองค์ ออกเสด็จเยี่ยมเยียนพสกนิกรไปทั่วทุกแห่งของประเทศไทย โดยมิได้ทรงคำนึงถึงความสุขส่วนพระองค์เลย      ทรงหวังให้ประชาชนของพระองค์มีความสงบสุขเท่านั้น แม้ในแดนผู้ก่อการร้าย    ซึ่งก็เป็นปฏิปักษ์ต่อพระองค์ท่าน  พระองค์ก็ไม่ทรงท้อถอยพระทัย จะเห็นได้ในความเสียสละอันซาบซึ้งและตรึงใจของคนไทยอยู่อย่างไม่รู้หาย ในคราวที่ทั้ง ๒ พระองค์ทรงเสียสละ นำ ฮ. พระที่นั่งเข้าไปเสี่ยง รับทหารที่บาดเจ็บเพราะถูกปะทะกับผู้ก่อการร้ายและถูกล้อมรอบไว้ ซึ่งไม่มีใครกล้าเสี่ยงเข้าไปช่วยได้แล้ว แต่พอพระองค์ทราบก็ทรงเสียสละแม้กระทั่งชีวิตของพระองค์นำ ฮ. ไปช่วยเหลือ และก็ด้วยพระบารมีปกเกล้าได้ช่วยเหลือนำทหารที่บาดเจ็บออกมาได้อย่างปลอดภัย ไม่มีอันตรายใด ๆ เหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่ของ จ.น่าน แดน ผกค.   ซึ่งเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว..........ทหารที่บาดเจ็บคราวนั้น หากมิได้การเสียสละของพระองค์เสียแล้ว ก็คงจะตายอยู่ในวงล้อมของผู้ก่อการร้ายนั่นเอง........

                - น้ำใจที่เด็ดเดี่ยว ไม่พึงดูดาย เมื่อเห็นคนอื่นได้รับความทุกข์ยากลำบาก แล้วเข้าช่วยเหลือแม้ตนเองจะต้องลำบากและเสี่ยงอันตรายสักปานใดก็ยอม น้ำใจอย่างนี้เรียกว่า น้ำใจแห่งการเสียสละ

                หลักการเสียสละ

  - สมบัติของคนเราที่มีค่าซึ่งคนเราหวงแหนนั้น รวมทั้งหมดมีอยู่ ๔ อย่างด้วยกัน

เรียงลำดับจากสิ่งที่มีค่าน้อยไปหาสิ่งที่มีค่ามาก ดังนี้.-

                                                - ทรัพย์

                                                - อวัยวะ

                                                - ชีวิต    และ

                                                - ธรรมะ

 

                - ทรัพย์เป็นสมบัติที่มีค่าต่ำที่สุด เพราะเป็นของนอกกาย เสียแล้วหาใหม่ได้ง่าย

                - อวัยวะเป็นของมีค่ามากกว่าทรัพย์เป็นของมีอยู่ในกายเรา เช่น ลูกตาข้างหนึ่งแม้จะเอาทรัพย์เป็นเล่มเกวียนมาซื้อเราก็ไม่ยอม เพราะเป็นของหายาก หายไปแล้ว หาใหม่ทดแทนไม่ได้ หรือถึงจะได้ก็คงไม่เหมือนเดิม

                - ชีวิตสูงกว่าอวัยวะ เพราะอวัยวะ เช่น ตาจะบอดไปข้างหนึ่ง แขนขาจะขาดไปอย่างละข้าง ก็ยังเหลืออยู่อีกอย่างละข้าง ถ้าชีวิตยังมีอยู่ก็ยังไม่ตาย ยังสามารถประกอบอาชีพ มีความสุขอยู่ได้ในโลก แต่ถ้าหมดชีวิตคือตายแล้ว ทุกอย่างก็หมดกัน อวัยวะทุกส่วนแม้จะยังอยู่ครบบริบูรณ์ ก็ไม่มีความหมาย เพราะหมดความรู้สึกแล้ว เพราะฉะนั้น ชีวิตจึงเป็นยอดของความสำคัญในร่างกายเรา  ความสุข ความเจริญขึ้นอยู่กับมีชีวิต เสียชีวิตแล้วทุกอย่างก็สิ้นสุด

                - แต่ยังมีอยู่อีกอย่างหนึ่งที่ยังไม่สิ้นสุด ยังอยู่อยู่เหนือชีวิต แม้จะสิ้นชีวิตไปแล้ว แต่สิ่งนั้นก็ยังไม่สิ้น สิ่งนั้น คือ " คุณงามความดี " หรือเรียกว่า " ธรรมะ "

                - ธรรม เป็นของสูงกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งชีวิตก็สูงสู้ธรรมะไม่ได้ เพราะธรรมะเป็นของไม่ตาย ตัวตายไป แต่ธรรมะ คือคุณงามความดี ยังปรากฏอยู่ในโลกชั่วฟ้าดินสลาย ดังกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ว่า                                                             

พฤษภกาสร                          อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง                     สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย                     มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี                     ประดับไว้ในโลกา ฯ

                หลักการใหญ่ของการเสียสละนั้น นักปราชญ์ทางศาสนาได้ว่าไว้ ดังนี้

                                                ธนํ  จเช   องฺควรสฺส  เหตุ

                                                องฺคํ  จเช  ชีวิตํ  รกฺขมาโน

                                                องฺคํ  ธนํ  ชีวิตญฺจาปิ  สพฺพํ

                                                จเช  นโร  ธมฺมมนุสฺสรนฺโต ฯ

                 แปลว่า  พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ  พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต  เพื่อผดุงไว้ซึ่งธรรม พึงสละได้ทุกอย่าง แม้กระทั่งทรัพย์ อวัยวะ และชีวิต

                ในทางปฏิบัติ เราใช้เป็นหลักสูตรของการเสียสละได้ดีที่สุดคือ ท่องจำสมบัติของเราได้คล่องปากว่า  ทรัพย์  อวัยวะ  ชีวิต  ธรรมะ

                ในการเสียสละ ต้องเสียสละของที่มีค่าน้อย เพื่อรักษาของที่มีค่ามาก เช่น สละทรัพย์เพื่อรักษาตัวเมื่อเวลาเจ็บป่วย สละอวัยวะ เช่น ต้องตัดมือตัดเท้า เมื่อจำเป็นเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้  แต่เพื่อจะรักษาธรรมะเอาไว้แล้ว ถึงจะเสียทรัพย์ อวัยวะ และแม้กระทั่งชีวิต ก็ต้องยอมเสียสละได้ การเสียสละอย่างนี้ จะได้รับการยกย่องนับถือของคนทั่วไป

                คนที่ถูกตำหนิว่า เป็นคนชั่วคนเสียนั้น ก็เพราะการเสียสละผิดวิธีก็มีมาก คือ เสียสละสิ่งที่มีค่ามาก เพื่อแลกกับของมีค่าน้อย เช่น การลักขโมยเอาทรัพย์ของคนอื่น จี้หรือปล้นเอาทรัพย์ของคนอื่น ที่ถูกตำหนิว่าเสีย ก็เพราะผู้กระทำการลักก็ดี กระทำการปล้นก็ดี ได้เสียสละศีลธรรมอันดี ซึ่งเป็นของสูงสุดอยู่แล้ว เพื่อแลกเอาทรัพย์ซึ่งเป็นของต่ำกว่า ถ้าใครสละผิดลำดับเช่นนี้ เป็นต้องเสียแน่ ยิ่งข้ามลำดับกันไกลเท่าไร ก็ยิ่งเสียมากเท่านั้น

                การเสียสละเพื่อประเทศชาติ

                บุตรภรรยา พ่อแม่ พี่น้อง ญาติมิตร ทรัพย์สมบัติ เหล่านี้เป็นของใคร ๆ ก็รัก ก็หวงแหน ถ้ามีใครมาทำลาย เราต้องต่อสู้ป้องกันจนสุดความสามารถ แม้จะเอาชีวิตเข้าเสี่ยงก็ต้องยอม แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่เรารักและหวงแหนยิ่งกว่าบุตรภรรยา พ่อแม่ และทรัพย์สมบัติ สิ่งนั้นก็คือ "ประเทศชาติ" คือ "ชาติไทย" " แผ่นดินไทย"  เพราะเหตุไร ? เราจึงรักและหวงแหนประเทศชาติเหนือกว่าสิ่งอื่นใด ก็เพราะสิ่งอันเป็นที่รักทั้งหลายแหล่ของเรานั้น รวมกันอยู่ในชาติไทย ในแผ่นดินไทยทั้งนั้น หากชาติไทยเรายังอยู่ สิ่งอันเป็นที่รักของเราเหล่านั้นก็ต้องยังอยู่ แต่ถ้าหากชาติไทย แผ่นดินไทยสลายไปแล้ว สิ่งอันเป็นที่รักของเราเหล่านั้นจะอยู่ได้อย่างไร

                เพราะฉะนั้น คนไทยเราจึงรักชาติไทย รักแผ่นดินไทยเหนือกว่าสิ่งอื่นใด แม้ชีวิตก็พร้อมที่จะเสียสละให้ได้สมกับคำที่ว่า

                                                " รักชาติยิ่งกว่าชีพ

                                                   สละชีพเพื่อชาติ "

                การเสียสละเพื่อประเทศชาติอาจกระทำได้หลายทาง คือ

                ก. เสียสละทรัพย์  การที่ราษฎรพากันเสียสละรายได้ของตนเป็นภาษีอากรให้แก่รัฐ เป็นการเสียสละทรัพย์เพื่อประเทศชาติ นอกจากนี้ ยังเคยมีคนไทยผู้รักชาติพากันเสียสละทรัพย์คนละเล็กคนละน้อย จนสามารถซื้อเรือรบให้ราชการได้ลำหนึ่ง ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เรือรบลำนั้น คือ " เรือพระร่วง " นอกจากนี้ ยังปรากฏอยู่บ่อย ๆ ที่คนไทยผู้รักชาติทั้งหลาย ได้พากันเสียสละทรัพย์ของตนร่วมกันสร้างโบสถ์ วิหาร โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น อันจะเป็นสาธารณประโยชน์แก่ชุมชน และในขณะนี้ (ในขณะเขียนเรื่องนี้)
             
ประชาชนชาวไทยผู้รักชาติทั้งหลายก็กำลังร่วมแรงร่วมใจกัน เสียสละทรัพย์คนละเล็กคนละน้อย เพื่อสมทบทุนสร้างเครื่องทดลองกลั่นน้ำมันสูตรพระราชทาน ท.อีทอน็อล อันจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลแก่ประเทศชาติ

                ข. สละความสุข  นอกจากจะเสียสละทรัพย์ส่วนตัว เพื่อบำรุงประเทศชาติแล้ว เมื่อถึงคราวคับขัน บ้านเมืองตกอยู่ในอันตราย คนไทยเราก็ยังพร้อมที่จะสละความสุขส่วนตัวออกช่วยเหลือทางราชการได้ คนไทยทุกคนทั้งบุรุษสตรี ก็พร้อมที่จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อประเทศชาติ เช่นพี่น้องหมู่บ้านบางระจันทร์ สิงห์บุรี  และสมัยหนึ่งลูกเสือไทยได้เคยเป็นกำลังลำเลียงกระสุนให้แก่ทหาร เพื่อปราบกบฏที่ทุ่งบางเขนมาแล้ว เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๖

                ในศึกแม่โมที่โคราช เมื่อเจ้าอนุเวียงจันทร์ได้มากวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลย คุณหญิงโม ซึ่งเป็นหัวหน้าสตรีไทย ได้แสดงวีรกรรมเสียสละความสุขส่วนตัวอย่างสูง โดยได้นัดแนะให้สตรีไทยที่ถูกต้อนไปนั้น หาวิธีหน่วงเหนี่ยวการเดินทางให้ช้าลง โดยการใช้มารยาหญิงปรนเปรอทหารลาว แม้จะเสียสาวเสียศักดิ์ศรีส่วนตัวไปบ้างก็ยอม ทั้งนี้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยของประเทศชาติ ในที่สุดทหารลาวก็ตายใจ  คุณหญิงโมจึงสั่งลูกน้องเข้าทำลายห้ำหั่นจนทหารลาวแตกทัพกลับไป  แล้วคนไทยก็เป็นอิสระ  คุณหญิงโมก็ได้เป็น  วีรสตรีไทยมาจนทุกวันนี้ เพราะการเสียสละความสุขส่วนตัวช่วยเหลือทางราชการนั่นเอง

                ค. การเสียสละชีวิต  ชีวิตเราเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุด หาอะไรเปรียบมิได้ ถ้าจะว่าในเรื่องความรักอะไรในโลกนี้แล้ว ความรักชีวิตก็เป็นหนึ่ง ไม่มีสองของผู้มีชีวิตทั้งหลาย พูดง่าย ๆ ก็คือว่าชีวิตมีค่าเหนือกว่าสิ่งอื่นใด มีอยู่กรณีเดียวเท่านั้นที่นักปราชญ์ยอมให้ว่า สูงกว่าชีวิต นั่นคือ "ธรรมะ"  การเสียสละชีวิตเพื่อธรรมะนั้น ถือว่าเป็นยอดแห่งการเสียสละทั้งปวง  ธรรมะ คือความถูกต้อง ความยุติธรรม ความดีงามทั้งหลาย

                ประเทศชาติ คือแผ่นดินที่เราอยู่อาศัย เป็นที่เกิดเป็นที่อยู่ เป็นที่ทำมาหากินของเรา หากประเทศยังอยู่ ชาติเราก็ยังอยู่ และชีวิตเราแต่ละคนก็จะอยู่ด้วยความสุขสบาย ของ ๆ ใคร ใครก็รัก แผ่นดินไทย ไทยก็หวง การรักษาป้องกันประเทศชาติจึงเป็นสิทธิโดยชอบธรรม เป็นความดี เป็นความถูกต้อง เพราะฉะนั้น การเสียสละชีวิตเพื่อประเทศชาติ จึงเป็นการผดุงธรรมะเอาไว้ เป็นการเสียสละเพื่อธรรม เป็นยอดแห่งการเสียสละ

                สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ทรงเสียสละอย่างเด็ดเดี่ยว เคยคาบพระแสงดาบปีนค่ายพม่า ฆ่าฟันกับพม่าจนพระแสงดาบหักมาแล้ว และยิ่งกว่านั้น ลำพังพระองค์เดียวทรงช้างศึกพระที่นั่ง ถลำเข้าไปอยู่ในท่ามกลางกองทัพของพม่า ซึ่งมีพระมหาอุปราชเป็นแม่ทัพ พระองค์ยังทรงต่อสู้จนเอาชนะข้าศึกได้

                ในประวัติศาสตร์การรบของญี่ปุ่น กับทหารจีนในแมนจูเรีย ญี่ปุ่นเข้าตีจีนแห่งหนึ่งไม่สำเร็จ เพราะมีรั้วลวดหนามกั้นไว้หลายชั้น เข้าตีทีไรก็ไม่สำเร็จและเสียกำลังทหารมากทุกครั้ง ต่อมามีทหาร ๓ นายยอมเสียสละอาสาทำลายรั้วลวดหนามนั้น โดยเอาลูกระเบิดผูกติดตัวคนละหลาย ๆ ลูก แล้วก็วิ่งเข้าชนรั้วลวดหนามนั้น เสียงระเบิดดังกึกก้อง รั้วลวดหนามพังทลายหมด พร้อมกับร่างของทหาร ๓ นายนั้น ก็แหลกละเอียดไปด้วยกัน แต่ชาติญี่ปุ่นชนะ กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนเข้ายึดแมนจูเรียสำเร็จ เพราะการเสียสละอย่างสูงของทหารทั้ง ๓ นายนั้น

                เพราะฉะนั้น คนไทย ทหารไทยทุกคนที่ยอมเสียสละความสุขส่วนตัว ยอมพรากจากบุตรภรรยา ญาติ พี่น้อง และทรัพย์สินมาเป็นทหารรับใช้ประเทศชาติอยู่ขณะนี้ จึงเป็นการเสียสละอย่างสูง เพราะงานรักษาป้องกันประเทศชาตินั้น เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ถ้าประมาทพลาดพลั้งก็หมายถึงตาย แต่ตายอย่างผู้มีเกียรติที่ได้สละชีพเพื่อชาติ.....ซึ่งทุกคนควรภูมิใจ

                ผลของการเสียสละ 

                ความเสียสละเป็นแรงดึงดูดให้เกิดลาภสักการะ การเสียสละเป็นการลงทุนแต่น้อย แต่อาจได้กำไรงาม เพราะได้ผลสองชั้น คือ

                ๑. การเสียสละ  เป็นเครื่องผูกไมตรีจิต  ทำให้คนรัก

                ๒. การเสียสละเป็นเหตุให้คนอื่น นำลาภสักการะกลับมาให้ตัวเรา เข้าทำนองว่าหมูไปไก่มา (โดยเล่าเรื่องเศรษฐีสอบคัดเลือกลูกสะใภ้ประกอบ ดังนี้)

                มีเศรษฐีอยู่คนหนึ่ง มีทรัพย์สมบัติมาก แกมีลูกชายอยู่คนเดียว ต้องการจะให้ลูกแต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝา แต่ก็เกรงอยู่ว่า ถ้าได้หญิงไม่ดีมาเป็นสะใภ้ ก็จะมาผลาญสมบัติเสียหมด จึงต้องคัดหาหญิงดีที่จะมาเป็นสะใภ้  โดยท่านเศรษฐีเปิดการสอบคัดเลือกขึ้น ท่านเศรษฐีเป็นคนออกข้อสอบเอง และออกข้อเดียว แล้วให้ลูกชายนำข้อสอบนั้นไปเที่ยวถามหญิงสาวที่ตนชอบ ถ้าใครตอบถูกก็จะได้ตำแหน่งศรีสะใภ้ ข้อสอบของท่านเศรษฐีว่าดังนี้

                "สมมติว่า เรามีปลาอยู่ตัวเดียว เราจะทำอย่างไร จึงได้กินปลานาน ๆ ?.....

                ท่านเศรษฐีให้ลูกชายจำข้อสอบนี้ แต่ยังไม่บอกคำเฉลย ถ้าหญิงสาวคนไทยตอบอย่างไร ก็ให้นำมาบอกแก่ท่านเศรษฐี ๆ จะเป็นผู้เฉลยเอง ที่ท่านเศรษฐีไม่บอกคำตอบ ก็เพราะเกรงว่าลูกชายจะลำเอียง ไปบอกคำตอบแก่หญิงที่ตนรัก อาจไม่ได้หญิงดีตามที่ต้องการ

                ลูกชายเศรษฐี นำคำถามไปเที่ยวตระเวนตามหญิงสาวที่ตอนรักและชอบ.....

                " คุณครับ ? คุณพ่อผมตั้งปัญหาให้มาถามว่า สมมติว่า เรามีปลายอยู่ตัวเดียว เราจะทำอย่างไร จึงจะได้กินนาน ๆ ?"

                หญิงสาวหลายคนตอบต่าง ๆ กัน

                " ไม่ยากค่ะ  ทำปลาร้าไว้ซิค่ะ "

                " อ๋อ  ง่ายนิดเดียวค่ะ  ต้องทำปลาเค็มไว้ซิค่ะ "

                " ไม่ยาก  ไม่ยากค่ะ  ทำปลาเจ่าไว้ค่ะ "

                ลูกชายเศรษฐีนำคำตอบของหญิงสาวแต่ละคนมาเล่าสู่ท่านเศรษฐีผู้เป็นพ่อฟัง.....ท่านเศรษฐีฟังแล้ว ทำหน้าเศร้า คำตอบของหญิงแต่ละคน ไม่ต้องใจของท่านเศรษฐี ทำปลาเจ่า ปลาร้า ปลาเค็ม มันก็ปลาตัวเดียว จะทำเค็มอย่างไรมันก็เท่าเดิม ไม่มีเพิ่มขึ้น แล้วจะกินได้นานอย่างไร หญิงสาวเหล่านั้นสอบตกหมด ท่านเศรษฐียังไม่ลดละความพยายาม ให้ลูกชายตระเวนถามไปอีก คราวนี้ไปเจอเอาหญิงแก้วคนหนึ่ง พอถูกถาม เธอก็ยิ้มอย่างสวยงาม พร้อมกับตอบว่า

                " ถ้าอยากจะกินนาน ๆ ก็ไม่ยากค่ะ  เราต้องตัดปลาตัวนั้นออกเป็นชิ้น ๆ แล้วส่งบ้านป้า บ้านน้า บ้านอา และคนใกล้เคียงกันบ้านละชิ้น ส่วนเราผัวเมีย กินชิ้นเดียวก็พอแล้ว ทำนองนี้แหละปลาที่เราแบ่งปันคนอื่นไปนั้น มันจะไปสะกิดหัวใจคนกินให้คิดถึงเราเจ้าของเดิม แล้วให้นำของกลับมาส่งเราอีก แล้วก็จะไม่มีวันหมดด้วย เขาได้อะไรก็จะนึกถึงทุกครั้ง.....นี้แหละค่ะ ปลาตัวเดียวได้กินนาน ๆ ล่ะ "

                ลูกชายท่านเศรษฐี นำคำตอบมาบอกพ่อ พอท่านเศรษฐีได้ฟังก็ตบมือผาง หัวเราะก้ากด้วยความดีใจ ตกลงหญิงคนนี้เป็นคนได้ครองตำแหน่งลูกสะใภ้ของท่านเศรษฐี.....

                ในด้านปลูกไมตรีทำให้คนรักนั้น การเสียสละให้ด้วยน้ำใจนั้น มีฤทธิ์มีอำนาจมาก....ผ้าเช็ดหน้าผืนหนึ่ง เราซื้อมาจากร้านขายผ้าทั้งสวย ทั้งราคาแพง แต่เราซื้อเขาแล้ว ให้เงินเขาแล้ว จิตใจเราก็เฉย ๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร คนขายเราก็ไม่ได้คิดถึงเขา.....ผ้าเช็ดหน้าผืนนั้น เราก็มิได้ชอบชิดพิศวาสอะไรมากนัก...

               แต่ผ้าเช็ดหน้าอีกผืนหนึ่งสิ  ว่าถึงเนื้อผ้าก็หยาบ ๆ ราคาก็คงไม่กี่อัฐ แต่ว่าเป็นของคน ๆ หนึ่งเขาฝากมาให้ด้วยน้ำใจรักน้ำใจเสียสละ  แถมที่มุมยังมีปักกระจุ๋มกระจิ๋ม.....ยอดบูชาของตุ่ม  สุดชีวิตของติ๋ม....เป็นต้น ผ้าเช็ดหน้าผืนนี้แหละมันมีฤทธิ์มีเดชมากนัก ทำให้จิตใจของผู้รับหวั่นไหว ทุกครั้งที่หยิบขึ้นมาหัวใจจะตระหวัดไปถึงเจ้าของผ้าผู้ให้ และทะนุถนอมผ้าผืนนั้นไว้เหมือนดวงใจ นี่แหละอำนาจของการเสียสละ ล่ะ...

                ในทางสังคม ครูสอนวิชาให้แก่เด็กด้วยความรัก ด้วยความหวังดี ไม่เห็นแก่สินจ้างรางวัล หมอที่ยินดีช่วยรักษาคนไข้ ไม่เห็นแก่เงินทอง  ถ้ายากจนก็รักษาให้เปล่า ๆ ทั้งครูทั้งหมอที่เปี่ยมไปด้วยจิตใจเสียสละเช่นนี้  จะได้รับลาภสักการะ ไม่รู้จักหมดสิ้น นอกจากได้ลาภแล้ว  ยังสามารถเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจนักเรียน และของคนไข้ทั้งปวงได้อีกด้วย

                สรุป 

  • - ให้ทหารซักถาม หรือ ซักถามทหาร
  • - ย้ำหัวข้อที่สำคัญ
  • - กล่าวสรุป

                      การเสียสละ เป็นการเสียน้อย แต่ได้มาก  เพราะการเสียสละของบรรพบุรุษของไทยในอดีตนั้นเอง  ประเทศชาติของเราจึงได้ดำรงอิสรภาพ และเจริญรุ่งเรืองมาจนกระทั่งทุกวันนี้  ชีวิตใคร ๆ ก็รักและหวงแหน  แต่ถึงจะรักถึงจะหวงแหนสักปานใด  ชีวิตก็ยังมีวันแตกสลายไปได้  แต่คุณงามความดีที่เราประกอบไว้  จึงไม่มีวันสลาย  การเสียสละชีพเพื่อสร้างเกียรติคุณไว้  จึงไม่ต่างอะไรกับการเอาฟองน้ำไปแลกกับ   เพชรเม็ดงามอันล้ำค่า   เพราะฉะนั้น  จึงควรบำเพ็ญเสียสละให้มีในใจทุกคน  เพราะ....

  • - การเสียสละเท่านั้น ที่จะทำให้ประเทศชาติอยู่รอดได้
  • - การเสียสละเท่านั้นที่จะสร้างความเจริญแก่ตนเอง และประเทศชาติ และ
  • - การเสียสละเท่านั้น ที่จะทำให้คนเขาสร้างอนุสาวรีย์ให้ไว้เป็นอนุสรณ์ เมื่อเราตายไปแล้ว

------------------------

 

 

ความอดทน

กล่าวนำ

(ความฝันอันสูงสุด)

ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ              ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว
ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ           ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง
จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด                 จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง
จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง      จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา 
ไม่ท้อถอยคอยสร้างสิ่งที่ควร          ไม่เรรวนพะว้าพะวังคิดกังขา
ไม่ชอกช้ำน้อยใจในโชคชะตา        ไม่เสียดายชีวาถ้าสิ้นไป
นี้คือปณิธานที่หาญมุ่ง                     หวังผดุงยุติธรรมอันสดใส
ถึงทนทุกข์ทรมานนานเท่าใด          ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง
โลกมนุษย์คงจะดีกว่านี้แน่             เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน
 คงยืนหยัดสู้ไปใฝ่ประจัน            ยอมอาสัญก็เพราะปองเทิดผองไทย ฯ   
                                                                 (ร.๙)

            ในบรรดาเหล็กด้วยกัน เหล็กกล้า เป็นเหล็กที่มีความแข็ง ความเหนียว ทนทานที่สุด และมีราคามากที่สุด ในบรรดาต้นไม้ด้วยกัน ไม้ชนิดที่มีแก่น เช่น ไม้ตะเคียน ไม้พะยุง ไม้ประดู่ ไม้สัก เป็นต้น เป็นไม้ที่มีคนนิยมมากที่สุด ขายได้ราคาดีมากที่สุด เพราะไม้จำพวกนี้ มีความทนทานที่สุด ไม่แตกง่าย ไม่หักง่าย ไม่ผุง่าย  ในบรรดาอาคารทั้งหลาย เช่น ตึกรามบ้านช่อง เป็นต้น ที่จะมีความคงทนถาวร ไม่ทรุด ไม่พัง ต้องเป็นตึกที่ได้ลงเข็มไว้แข็งแรงทีสุด ยิ่งสร้างสูงเท่าใด ก็ต้องลงเข็มให้มากเท่านั้น จึงจะคงทนและรับน้ำหนักไว้ได้นาน

            สะพานข้ามคลอง ข้ามแม่น้ำต่าง ๆ เมื่อสร้างแล้ว เขามักจะเขียนบอกไว้ว่า สามารถรับน้ำหนักได้เท่านั้นเท่านี้ตัน ถ้ารถเกินน้ำหนักที่กำหนดไว้แล้วห้ามข้าม  ถ้าขืนข้ามไปสะพานจะพัง รถและคนขับจะเป็นอันตราย

            รถต่าง ๆ ก็เหมือนกัน เช่น รถไฟ รถยนต์นั่งและรถยนต์บรรทุก  เขามีกำหนดน้ำหนักตัวรถ และน้ำหนักบรรจุเอาไว้ด้วยว่า รถน้ำหนักเท่านี้ ต้องบรรทุกน้ำหนักได้เท่านี้ เป็นต้น

            สัตว์ที่จะนำมาใช้งาน ต้องเป็นสัตว์ที่มีความแข็งแรง อดทน เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น ช้างใช้ลากซุง วัวควายใช้ลากเข็น ใช้ไถนา ม้ามักใช้ขี่และบรรทุกต่าง ๆ ยิ่งถ้าในทะเลทราย ซึ่งเป็นที่กันดารน้ำมาก ๆ ก็นิยมใช้อูฐเป็นพาหนะ เพราะอูฐเป็นสัตว์ที่มีความอดทนสูง มีความแข็งแรงมาก สามารถทนหิวได้นาน ๆ

            จะเป็นเหล็ก เป็นไม้ เป็นสัตว์ เป็นรถ อาคารบ้านเรือน เป็นต้นก็ตาม ถ้ามีความทนทาน มีความแข็งแรงมั่นคงมาก ก็มีคนนิยมมาก มีค่า มีราคามาก

            อธิบายความ

            ความอดทน เรียกตามภาษาทางศาสนา หรือที่เรารู้กันอยู่โดยทั่วไปว่า "ขันติ" แปลว่า ความอดทน ตรงตัว

            ความอดทน เป็นคุณลักษณะของคน ได้แก่ความอดทนต่องานได้ ที่เรียกว่า "สู้งาน" ทุกอย่างหรือที่เรียกว่า "หนักก็เอา เบาก็สู้" ไม่พรั่นพรึงต่อความร้อน หนาว ฝน บึกบึนต่องานจนสำเร็จ ถ้าได้เผชิญกับอันตราย ได้รับความบาดเจ็บ หรือเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะมีความอดทน อดกลั้น ไม่แสดงอาการขึ้นลงให้ปรากฏเกินไป หรือถ้าได้รับความกระกระเทือนด้านจิตใจ ก็เป็นคนหนักแน่น ไม่หวั่นไหว รวมความว่า มีความอดทนทั้งทางกายและทางใจ

            ที่ว่า "อดทน ๆ" นั้น หมายเอาเฉพาะการอดทนต่อฝ่ายที่ไม่ดี เพื่อยืนหยัดอยู่ในทางดีให้ได้ ไม่ใช่ว่าใครตกอยู่สภาพอย่างไรแล้ว ก็ทนอยู่ในความยากจนนั้นตลอดไป ไม่พยายามขวนขวาย เพื่อยกฐานะตนเองให้ดีขึ้น หรือเคยเกียจคร้าน ไม่ทำการงาน ก็อดทนเป็นคนเกียจคร้านอยู่อย่างนั้น แม้จะถูกคนอื่นสับโขกอย่างไรก็อดทนเอา  อย่างนี้มิใช่ลักษณะของความอดทน ไม่ใช่คุณธรรม เป็นลักษณะของความชั่วที่เรียกว่า "ความตายด้าน" เช่น "ต้นไม้ตาย" เพราะเป็นเรื่องของคนหรือสิ่งที่หมดความเจริญแล้ว

            ในทางความหมายของศัพท์ "ขันติ" แปลว่า ความอดทน แยกออกเป็น ๒ คำ คือ

            ๑. ความ "อด"

            ๒. ความ "ทน"

            อด  กับ  ทน  รวมกันเข้าเรียกว่า "ขันติ" คือ ความอดทน

            ที่ว่า "อด" นั้น หมายความว่า ยอมอดจากสิ่งที่ตัวเราชอบ ด้วยมุ่งหมายจะสร้างความดีหรือเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตัวเองและส่วนรวม เช่นการอดดื่มเหล้า อดเล่นการพนัน อดเที่ยวกลางคืน อดกินของแสลงเวลาป่วยไข้ เพื่อสุขภาพของตัวเราเอง อย่างที่ว่า "อดเปรี้ยวไว้กินหวาน" เหล่านี้เป็นต้น

            ส่วนที่ว่า "ทน" นั้น หมายความว่า ทนต่อสิ่งที่ตนไม่ชอบ เพื่อทำคุณงามความดี เพื่อสร้างฐานะตัวเองให้เจริญก้าวหน้า เช่น การทนร้อน ทนหนาว ทนหิว ทนลำบาก ทนเหนื่อย ทนเจ็บไข้ได้ป่วย ทนศึกษาเล่าเรียน ทนทำงาน เหล่านี้เป็นต้น

            ประเภทของความอดทน

            บ้านมีความจำเป็นสำหรับอยู่อาศัย เสื้อผ้ามีความจำเป็นสำหรับสวมใส่ ป้องกันหนาว ร้อน อาหารมีความจำเป็นสำหรับเวลาหิว ยามีความจำเป็นสำหรับเวลาเจ็บไข้  ความอดทนก็มีความจำเป็นในวเลาที่เผชิญกับเหตุการณ์ที่จะทำให้เราหันเหไปจากความดี ไปกระทำความชั่ว เหตุการณ์ที่จะต้องเผชิญและมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ "ขันติ" คือ ความอดทนนั้น มีอยู่ ๔ ลักษณะ คือ

                                    ๑. อดทนต่อความทุกข์ยากลำบาก

                                    ๒. อดทนต่อความทุกขเวทนา หรือความเจ็บไข้

                                    ๓. อดทนต่อความเจ็บใจ

                                    ๔. อดทนต่อความอยาก

            ๑. อดทนต่อความทุกข์ยากลำบาก         หมายความว่า คนทำงานมาก ๆ แล้ว ได้รับความเหน็ดเหนื่อย หิวกระหาย ถูกแดดเผา ฝนตก ลมหนาว กระทบแล้ว ไม่สบาย คนที่ไม่มีความอดทน เมื่อประสบกับความลำบากตรากตรำเช่นนี้ ก็มักจะทอดทิ้งการงานเสียง่าย ๆ เป็นคนมืออ่อนเท้าอ่อน ทำอะไรทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ เป็นคนเลือกงาน ไม่เอาจริงสักอย่าง ส่วนผู้ที่มีความอดทน ย่อมอดทนต่ออุปสรรคทุกอย่าง หนักก็เอาเบาก็สู้ โดยมุ่งผลคือความสำเร็จเป็นที่ตั้ง อุทิศชีวิตเพื่องานอย่างเดียว

            ๒. อดทนต่อความเจ็บไข้  ร่างกายของคนเรานั้น ประกอบขึ้นด้วยเนื้อสด ๆ หนังสด ๆ ต้องมีการบำรุง เยียวยากันอยู่ตลอดจึงจะเป็นอยู่ได้ ความเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งเรียกว่าทุกขเวทนาอันเกิดแต่การได้รับบาดเจ็บก็ดี เกิดจากความป่วยไข้ก็ดี ย่อมจะต้องมีเป็นธรรมดา คนที่ขาดความอดทน เมื่อถึงคราวที่เจ็บไข้ได้ป่วย มักจะอดทนไม่ได้ แสดงกิริยาอาการอันไม่สมควรออกมา เช่น ไม่พอจะครางก็คราง ไม่พอจะร้องก็ร้อง ทำกระบิดกระบวน แสดงความอ่อนแอ ใจเสาะ ให้ปรากฏออกมา ปวดไม่พอจะตาย ก็ร้องออกมาว่า ปวดจะตายอยู่แล้ว เจ็บจะตายอยู่แล้วเป็นต้น

            ส่วนผู้มีความอดทนจะเป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง อดกลั้น จะเจ็บจะปวดแทบจะทนไม่ไหว ก็ยังไม่แสดงอาการผิดปกติให้ปรากฏ ไม่พอครางไม่คราง ไม่พอร้องไม่ร้อง แม้จะตายก็ตายด้วยความสงบ ไม่ยอมปล่อยตัวให้เสียเกียรติ หรือให้คนอื่นเห็นว่า เป็นคนอ่อนแอ

            ๓. อดทนต่อความเจ็บใจ   คนเรามีร่างกาย มีจิตใจ เมื่อร่างกายมีการกระทบกระเทือนได้ จิตใจก็ต้องมีการกระทบกระเทือนได้เช่นกัน เช่นเราถูกคนอื่นกระทำล่วงเกินให้เกิดขัดใจ ถูกเขาด่าถูกเขาสบประมาท เป็นต้น เมื่อถูกเข้าเช่นนี้ ผู้ที่ขาดความอดทนย่อมจะเดือดดาล โกรธแค้นหรือกระทำร้ายตอบ เช่นด่าว่าเหน็บแนมด้วยวาจาหยาบคาย ก่อการทะเลาะวิวาท หรืออาจถึงกับลงมือทำร้ายกันขึ้น เป็นการสร้างเวรสร้างกรรมกันไม่มีสิ้นสุด เป็นการนำความเดือดร้อนเสื่อมเสียมาสู่ตัวเอง ครอบครัว ตลอดถึงหมู่คณะและประเทศชาติในที่สุด

            ส่วนผู้ที่มีความอดทน  ย่อมเป็นผู้มีใจหนักแน่น รู้จักระงับใจ สอนใจตัวเองได้ รู้จักให้อภัย และหาวิธีแก้ไข เรื่องร้ายให้กลายเป็นดีได้

            ยกตัวอย่างชายคนหนึ่ง แกเป็นคนมีความอดทนเป็นเยี่ยม และฉลาดหาอุบายวิธีระงับไม่ให้เกิดความโกรธเพราะการกระทำของผู้อื่น

            ที่บ้านข้างเคียงกับแก หญิงเจ้าของบ้านไม่ชอบหน้าแก ไม่ทราบเพราะเหตุใด แต่แกก็ไม่เคยถือสาหาความเลย เขาทำกระทบกระทั่ง เขาพูดเหน็บแนมทุกเช้าทุกเย็น แต่แกอดทนอยู่ได้ไม่เคยปริปากโต้ตอบเลย ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้

            วันหนึ่ง ขณะที่แกกำลังนั่งจักตอกอยู่ใต้ถุนบ้าน หญิงคู่อริเห็นเข้าก็ตะโกนด่าแกปาว ๆ แกก็เฉย ทำงานเฉย แต่หญิงนั้นก็ด่าไม่หยุด จนลูกสาวของชายคนนั้นอดทนอยู่ไม่ไหว เห็นเขาด่าพ่อตนฝ่ายเดียว แต่พ่อไม่ตอบ จึงลงไปพูดกับพ่อว่า

            "นี่คุณพ่อ ปล่อยให้เขาด่าอยู่ได้ข้างเดียว เรื่องอะไรให้มันมาด่าเล่นข้างเดียว เหมือนเราเป็นหมู่เป็นหมา ไม่ตอบมันบ้าง มันจะได้ใจนะพ่อ" ลูกสาวเสนอเพราะโกรธแทนพ่อ

            "เขายืนด่าหรือนั่งด่าล่ะลูก?" ชายผู้เป็นพ่อย้อนถามลูกสาวด้วยอาการปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

            "โธ่ คุณพ่อ? ไม่ดูบ้างหรือไง นั่นไงเขายืนด่าปาว ๆ อยู่นั้น" ลูกสาวตอบ

            "ช่างเถอะลูก? ถ้าเขายืนด่าไม่เป็นไร พ่อนั่งอยู่คำด่าของเขาไม่ถูกพ่อหรอก มันข้ามหัวพ่อไปหมดแล้ว"พ่อตอบด้วยอุบาย

            พอดีคำตอบของชายคนนั้น ได้ยินไปถึงหูหญิงคนที่กำลังด่าอยู่ นางยิ่งแค้นยิ่งเจ็บใจยิ่งขึ้น

            "หนอยแน่? มันว่าข้ายืนด่า มันนั่งอยู่ไม่ถูกมัน เอาละคราวนี้ ข้าจะนั่งลงด่าดูมั่ง จะถูกตัวมันไหม คอยดู" คิดดังนั้นแล้ว นางก็นั่งลงด่าปาว ๆ ต่อไป

            ขณะที่หญิงนั่งลงด่า  ชายคนนั้นก็ลุกขึ้นยืนจักตอกของแก่ต่อไป

            "นั่นแน่พ่อ จะว่าไงล่ะ เขานั่งลงด่าพ่อแล้ว คราวนี้คงถูกตัวพ่อแน่ล่ะ" เสียงลูกสาวพูดด้วยความเจ็บใจหญิงที่กำลังด่าพ่อ เคืองพ่อที่มัวแต่พูดเล่น ไม่ยอมโต้ตอบเขา

            "ช่างเถอะลูก? ไม่เป็นไรหรอก เขานั่งด่า ขณะนี้พ่อยืนขึ้นแล้ว คำด่าของเขาไม่ถูกพ่อหรอก มันลอดหว่างขาไปหมดแล้ว"

            เป็นอันว่า ชายคนนั้น แกมีอุบายของแกในการใช้ความอดทน โดยไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธตัวเอง  ในที่สุดแกเอาชนะหญิงคนนั้นได้ โดยการอดทนไม่โต้ตอบ หญิงคนนั้นด่า ๆ อยู่คนเดียวจนเหนื่อยหอบแล้วแกก็หมดแรงด่า เลิกไปเอง ตกลงชายคนนั้น เป็นผู้ชนะ ชนะอย่างงดงาม คือชนะถึง ๓ ชั้น คือ

            ๑. ชนะใจตัวเอง

            ๒. ชนะหญิงผู้ที่มาด่า

            ๓. ชนะลูกสาวที่มายุให้ด่าตอบ

            ทั้งนี้ เพราะแกมีคุณธรรม คือ "ขันติ" ความอดทน นั่นเอง

            ๔. อดทนต่ออำนาจความอยาก  สิ่งที่จะทำให้คนเสีย มิใช่เฉพาะเรื่องความเจ็บใจเท่านั้น ข้างฝ่ายความอยาก ความเพลิดเพลิน มัวเมา ระเริงหลงก็ทำให้คนเสียคนมามากต่อมากแล้วเช่นกัน ในเมื่อมีอารมณ์หรือสิ่งน่าพอใจ ชอบใจมาเย้ายวน ก็จะก่อให้เกิดความอยาก เช่นเห็นผู้หญิงสวย ๆ เห็นสิ่งของอันมีค่า ก็คิดอยากได้ คนที่ตกอยู่ในอำนาจความอยาก ย่อมทำการอันน่าบัดสีได้ต่าง ๆ เช่น

            - เป็นขโมย

            - เป็นโจรผู้ร้าย

            - รับสินบน

            - ผิดในลูกเมียคนอื่น

            - เห็นเงินตาโต

            - เป็นคนรู้มากเอาเปรียบสังคม

            - เห่อยศถาบรรดาศักดิ์

            - เห่อทรัพย์

            - ขี้โอ่โอ้อวด เป็นต้น

            เหล่านี้ล้วนเป็นพฤติกรรมของคนที่ขาดความอดทน ตกอยู่ในอำนาจของความอยากทั้งนั้น เมื่อขาดความอดทนแล้ว ย่อมสามารถทำชั่วได้ทุกอย่างเพื่อสนองความอยาก เช่น

            - ละทิ้งหน้าที่

            - ฝ่าฝืนระเบียบวินัย

            - กระทำความชั่วน่าบัดสี

            เพราะฉะนั้น การอดทนต่อความอยาก จึงเป็นคุณธรรมประจำใจที่จะต้องฝึกให้มีขึ้นทุกคน

            ประโยชน์ของความอดทน

            ในการทำงานตั้งตัว คนที่มีความอดทนมาก ทำงานไม่เกี่ยงและไม่หยุด ย่อมได้งานมาก ถ้าเป็นงานส่วนตัวก็ได้ผลิตผลมาก  ตรงกันข้ามคนที่ไม่มีความอดทน หรือมีความอดทนน้อย ทำงานนิดหน่อย เดี๋ยวก็พัก เดี๋ยวก็หยุด ย่อมได้งานน้อย ถ้าเป็นงานส่วนตัวก็ได้ผลิตผลน้อย ถ้ารับจ้างเขาก็ได้ค่าจ้างน้อย สู้คนมีความอดทนไม่ได้ เขาได้งานมาก ได้ค่าแรงมาก นี้เป็นธรรมดา  ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย

            ในทางสุขภาพ  ความอดทนเป็นยาและอาหารบำรุงร่างกายให้แข็งแรง คนที่มีแรงน้อย ถ้าออกกำลัง

บ่อย ๆ หัดยกหัดแบกของเพิ่มน้ำหนักขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดก็สามารถแบกกระสอบข้าวได้อย่างสบาย  ทหาร แรก ๆ เข้ามาเป็นทหาร ร่างกายก็ไม่แข็งแรง ยกปืนแทนไม่ไหว แต่ได้อาศัยความอดทนฝึกฝน ออกกำลังกาย ฝึกหัดทุกเช้าทุกเย็น  ไม่นานก็กลายเป็นคนแข็งแรง ปืนที่เคยยกยากลำบากก็จะกลายเป็นเบาเหมือนสำลี

            ในด้านการต่อสู้ ความอดทนมีความจำเป็นสำหรับการต่อสู้ไม่แพ้ความกล้าหาญเลย ถ้าจะเปรียบความกล้าหาญก็เหมือนความคมของมีด ส่วนความอดทนเหมือนความเหนียวความแข็งแกร่งของมีด มีดถึงจะมีความคมสักปานใดถ้าไม่มีความเหนียว ความแข็งแล้ว ก็ใช้การไม่ได้ หรือได้ก็น้อย ฟันฉับทีเดียว ก็เบ้บิ่นหรือหักเสียแล้ว เพราะเหล็กไม่แข็งทนทาน  ทำนองเดียวกัน คนที่มีความกล้าหาญแต่อ่อนแอ ใจมันกล้า แต่แรงมันไม่สู้ ทำไปสักพักก็หมดแรง เมื่อหมดแรงแล้วก็เลยหมดกำลังใจ กลายเป็นคนอ่อนแอ  คนที่มีความอดทนดี ถึงจะมีฝีไม้ลายมือต่ำไปหน่อย แต่ก็สามารถทำงานสำเร็จได้ด้วยดี ส่วนคนที่มีความรู้ดี แต่ขาดความอดทน ลำบากนิด หนักหน่อยก็ทิ้งงานเสียแล้ว

            วิธีปลูกฝังความอดทน  ชีวิตทหารเป็นชีวิตของผู้ต่อสู้อดทน การมาเป็นทหาร ก็คือมาฝึกให้เป็นผู้มีความอดทน เพราะทหารมีภาระอันหนักที่จะต้องแบกไว้ นั่นคือ ประเทศชาติ ทหารจะต้องป้องกันรักษาประเทศชาติ ให้ปราศจากการรุนรานของศัตรู เพื่อปฏิบัติภารกิจอันหนักนี้  และเพื่อให้มีความเข้มแข็งอดทนเหนือกว่าศัตรู  ผู้บังคับบัญชาจึงพยายามปลูกฝังความอดทนให้แก่ทหาร ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาด้วยการฝึกท่ามกลางแสงแดด สายลม และสายฝน ในป่า ในน้ำ ทั้งกลางวันและกลางคืน

            ช่างเหล็กเขาต้องการเหล็กกล้า เหล็กแข็งทนทาน เขาเอาเหล็กเผาไฟจนแดงแล้ว ๆ เอาค้อนตี ตีแล้วตีอีก บางครั้งก็เอาชุบน้ำ กว่าจะได้มีดได้ดาบที่มีคม มีความกล้าแข็ง ทนทาน ช่างเหล็กเองก็เหงื่อตกหลายครั้ง ตัวเหล็กเองก็ต้องยอมให้เผาไฟ ยอมให้เขาตี จนกว่าจะเป็นมีด เป็นดาบที่มีคมแข็งแกร่ง ข้อนี้ฉันใด ก็ฉันนั้น

            ผู้บังคับบัญชา ผู้ฝึกทหาร   ก็เหมือนช่างเหล็ก

            ทหารผู้รับการฝึก     ก็เหมือนเหล็ก

ยิ่งมีความอดทนฝึกฝนเท่าใด ก็ยิ่งมีความแข็งแกร่งเท่านั้น

            (ยกตัวอย่างในทางประวัติของผู้มีความอดทนประกอบการสอนด้วย ถ้ามีเวลาพอ)

สรุป

            - ให้ทหารซักถาม หรือซักถามทหาร

            - ย้ำความสำคัญ

            - กล่าวสรุป

            ไม่ว่าการงานอะไรในโลกนี้ ย่อมต้องการความอดทน  จึงจะสำเร็จลุล่วงไปได้ งานน้อยต้องอดทนน้อย งานมากงานใหญ่ก็ต้องอดทนมาก คนที่ทำงานใหญ่ แต่กลัวความทุกข์ยากลำบาก ร้อนหน่อยก็บ่น หนาวหน่อยก็บ่น ฝนตกก็บ่น เป็นคนที่ขาดความอดทน คนเช่นนี้จะทำงานส่วนตัวก็ไม่เจริญก้าวหน้า  ไปเป็นข้าราชการก็ไปถ่วงความเจริญของชาติ  มาเป็นทหารก็ต้อแพ้ศัตรู  ถ้าประเทศชาติมีแต่ทหารที่ไม่มีความอดทน ก็หมายความว่า ชาติจะต้องตกไปเป็นขี้ข้าของชาติอื่นเร็วขึ้น เพราะฉะนั้น ขอให้ทหารจงมีความอดทน

----------------------------

 

เกียรติยศ  เกียรติศักดิ์ของทหาร 

รักเกียรติ 

กล่าวนำ ๕ นาที

                                มโนมอบพระผู้       เสวยสวรรค์

                แขนมอบทรงธรรม์                 เทิดหล้า

                ดวงใจมอบเมียขวัญ               และแม่

                เกียรติศักดิ์รักของข้า           มอบไว้แก่ตัว ฯ ร.๖

                                จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด

                จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง

                จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง     

                จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา ฯ ร.๙

                - อนุสาวรีย์ ย่อมเป็นที่เคารพสักการระ ชื่นชมของผู้ที่ได้พบเห็น ชวนให้นึกน้อมถึงคุณงามความดีอันไม่มีวันตายของวีรชนผู้ที่ได้จารึกชื่อไว้ในอนุสาวรีย์นั้นทุกครั้ง และที่สำคัญที่สุดก็คือ เร้าใจให้ผู้ที่พบเห็นอยากกระทำความดีเช่นท่านเหล่านั้นบ้าง อนุสาวรีย์พระเจ้ากรุงธนฯ อนุสาวรีย์ชนช้าง ดอนเจดีย์ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เป็นต้น ล้วนเป็นสิ่งที่เขาสร้างขึ้น เพื่อเชิดชูยกย่อง แด่บุคคลผู้มีเกียรติอย่างยิ่ง บุคคลผู้มีเกียรติเหล่านี้ตายแต่ร่างกาย แต่ชื่อเสียงเกียรติคุณของเขามิได้ตายไปด้วย จะตรึงใจคนไทยอยู่ตลอดไป

                - ทหารที่เสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ในสมรภูมิ เพื่อรักษาป้องกันประเทศชาติด้วยความกล้าหาญ เขาชื่อว่าเป็นผู้มีเกียรติและได้รับเกียรติอย่างสูง โดยจะได้รับการประดับเหรียญชัยสมรภูมิที่หน้าอก ถ้าได้ประกอบวีรกรรมอันแรงกล้าห้าวหาญ ก็จะได้รับเหรียญกล้าหาญ ประดับเปลวระเบิด....เมื่อเราได้พบเห็นเหรียญอันมีเกียรติเหล่านั้น ประดับอยู่ที่หน้าอกของใคร ก็ขอให้รู้เถิดว่า....เขาผู้นั้นเป็นผู้มีเกียรติ ได้สร้างเกียรติประวัติอย่างสูงในสมรภูมิเพื่อประเทศชาติมาแล้ว

                -ทหารที่ได้เสียสละความสุขส่วนตัว เสียสละครอบครัวญาติพี่น้อง มารับใช้ประเทศชาติ ชื่อว่าเป็นผู้มีเกียรติ ได้รับเกียรติอย่างสูง เครื่องแบบทหารเป็นเครื่องแบบอันมีเกียรติ ผู้ที่มีเกียรติและได้รับเกียรติเท่านั้น จึงจะมีโอกาสได้แต่งเครื่องแบบอันมีเกียรตินี้

อธิบายความหมายของเกียรติ

                - เกียรติ เป็นคำภาษาไทยที่แปลงมาจากภาษาสันสกฤต ภาษาบาลีว่า "กิตติ" ทั้งสองคำนี้แปลเหมือนกัน คือ แปลว่า "ชื่อเสียง" หมายถึงเกียรติคุณ คุณงามความดีนั่นเอง บุคคลผู้มีเกียรติ ย่อมเป็นที่นิยมยกย่องสรรเสริญของคนทั่วไป ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะไปที่ไหนอยู่แห่งหนตำบลใด เกียรติศักดิ์ของเขาจะฟุ้งขจรไปทั่วสารทิศ ดังเช่น มหาตมคานธี ผู้นำชาติอินเดีย จากความเป็นทาสของอังกฤษ ท่านเป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่ ใช้คุณงามความดีเป็นอาวุธต่อสู้กับอังกฤษจนได้ชัยชนะ ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านขจรไปทั่วทุกมุมโลก ได้ยกย่องให้เกียรติเขาว่า เป็นยอดวีรบุรุษผู้สำคัญของโลกคนหนึ่ง

 

เกียรติแบ่งออกได้เป็น ๒ อย่าง คือ

                                ๑. เกียรติยศ คือ ดีนอก

                                ๒. เกียรติคุณ หรือเกียรติศักดิ์ คือ ดีใน

                - เกียรติยศนั้น เป็นความดีด้านภายนอกที่ผู้กระทำความดีจะได้รับยกย่องจากบุคคลอื่น เช่น เหรียญตรา ชั้นยศถาบรรดาศักดิ์ต่าง ๆ ความเคารพกราบไหว้ พวงมาลัย ตลอดจนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่าง ๆ และอนุสาวรีย์ที่คนเขาสร้างให้เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว เพื่อจารึกชื่อเสียงเกียรติคุณเอาไว้ในประวัติศาสตร์ รวมเรียกว่า "เกียรติยศ" หรือจะว่า "ดีนอก" ก็ได้

                - ส่วนเกียรติคุณนั้น หมายถึงคุณงามความดีที่มีอยู่ในตัว เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูกตเวที ความกล้าหาญ ความเสียสละ ความสามัคคี ความอดทนเหล่านี้ เป็นต้น รวมเรียกว่า "เกียรติคุณ" หรือ "เกียรติศักดิ์" หรือจะว่า "ดีใน" ก็ได้ คนที่มีเกียรติคุณหรือเกียรติศักดิ์นี้  จะก่อให้เกิดความเคารพ     ยำเกรง ให้เกิดอำนาจ มีคนเคารพยกย่องนับถือและเกรงขาม

                - เกียรติคุณหรือเกียรติศักดิ์ เป็นคุณงามความดีภายใน เป็นเหตุให้เกิดเกียรติยศขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อรวมเกียรติยศและเกียรติศักดิ์เข้าด้วยกัน เราจึงเรียกโดยย่อว่า "เกียรติ"

ความสำคัญของเกียรติ

                - ผู้มีเกียรติเป็นคนที่มีจิตใจสูง มีความดีประจำใจ ผู้มีเกียรติจึงเป็นผู้ที่ไว้วางใจได้ เป็นคนมีสัจจะที่ควรเชื่อถือได้ ถึงตกทุกข์ได้ยาก จะออกปากไหว้วานหยิบยืมหรือขอความช่วยเหลืออะไรกับใคร เขาก็จะให้การช่วยเหลือโดยไม่ยาก เพราะเชื่อในเกียรติของคน ๆ นั้น ผู้มีเกียรติย่อมรักและสงวนเกียรติเหมือนจามรีสงวนขน เหมือนเกลือรักษาความเค็ม

                - อำนาจของเกียรติ ย่อมดึงดูดทรัพย์สิน ยศถาบรรดาศักดิ์ตลอดไมตรีจิตและความสุขมาให้แก่ผู้มีเกียรติ เกียรติจึงเป็นเสมือนกุญแจไขประตูความสุขให้แก่ตน ส่วนคนที่ไร้เกียรติจะเป็นคนที่ไร้ญาติขาดมิตร ดังตัวอย่างเด็กเลี้ยงแกะที่โกหกชาวบ้านเป็นต้น

                - คนไร้เกียรติ เป็นคนที่ทำลายความดีของตนให้หมด    แล้วทำแต่ความชั่วเผาผลาญตัวเอง ก่อแต่ความเดือดร้อนแก่ตัวเองและสังคม เสียงที่เขาได้รับแทนที่จะเป็นเสียงยกย่องสรรเสริญ ก็จะมีแต่เสียงสาบแช่ง เขาจะได้รับแต่ก้อนอิฐก้อนหินแทนพวงมาลา ตายไปแล้วแม้แต่ชื่อก็ไม่มีใครเขาอยากเอ่ยถึงให้เป็นเสนียดปาก (เล่าเรื่องพระเจ้าปิงคละประกอบ)

                - พระเจ้าปิงคละ เป็นกษัตริย์ผู้ดุร้ายทารุณ ปกครองบ้านเมืองโดยอยุติธรรม ประชาชนเกลียดกลัวทั้งเมือง มีแต่แช่งชักหักกระดูกให้ตาย พระองค์มีพระเนตรแดงกล่ำลุกโพลงอยู่ตลอดเวลา มีพระพักตร์บึ้งตึงไม่เคยยิ้ม คนที่รับเคราะห์กรรมหนักที่สุด ก็คือนายทวารบาล คือคนเฝ้าเปิดประตูพระตำหนัก ไม่ว่าจะเสด็จเข้าหรือออก เขาจะถูกพระองค์สับมะเหงกทุกครั้ง ทั้ง ๆ ที่เขาไม่มีความผิดอะไร จนศีรษะของเขาปูดเป็นผิวมะกรูด เขาไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงไปไหนได้ วันหนึ่ง ๆ เขาจะถูกลงมะเหงกไม่น้อยกว่า ๒๐ ครั้ง ขณะเสด็จเข้าออกพระตำหนัก ยิ่งวันไหนทรงอารมณ์เสีย เขาก็ยิ่งจะโดนหนักกว่าเก่าเป็น ๒-๓ เท่า

                ต่อมาพระเจ้าปิงคละสวรรคต พระราชโอรสขึ้นเสวยราชสมบัติแทน ประชาชนต่างชื่นชมยินดีพากันฉลองความตายของพระเจ้าปิงคละ ๗ วัน ๗ คืน มีมหรสพต่าง ๆ ร้องรำทำเพลงสนุกสนานในวันถวายพระเพลิงศพ ประชาชนทั่วทั้งประเทศ นำฟืนมาคนละท่อน มาช่วยกันเผา กลัวจะไม่ไหม้รวมฟืนได้ ๕๐๐ เล่มเกวียน

                ขณะที่คนทั้งหลายเขาร่าเริงยินดีเที่ยวงานกันอยู่นั้น นายเฝ้าประตูคนนั้น แกนั่งร้องห่มร้องไห้ แทบน้ำตาเป็นสายเลือดอยู่คนเดียว

                - พระราชาองค์ใหม่ทรงเห็นจึงเรียกมาตรัสถามว่า

                "คนทั้งเมืองเขาหัวเราะดีใจ เพราะพระเจ้าแผ่นดินตาย แต่ท่านเล่ากลับมานั่งร้องไห้เสียนี่ท่านเป็นอะไรไปรึ"

                "เปล่า พะยะค่ะ ข้าพระองค์มิได้เป็นอะไร"

                "ลูกเมีย ญาติพี่น้องของท่านเป็นอะไรรึเปล่า"

                "เปล่า พะยะค่ะ บุตรภรรยาของข้าพระองค์สบายดี"

                "ถ้าเช่นนั้น ปวดท้องหรือไร"

                "เปล่า พะยะค่ะ"

                "ถ้าเช่นนั้นก็คงเสียดายที่พระเจ้าแผ่นดินสวรรคต ใช่ไหมล่ะ"   เขาร้องไห้โฮใหญ่ขึ้นกว่าเดิม พร้อมกับกราบทูลว่า

                "เปล่าเลย พะยะค่ะ ข้าพระองค์มิได้เสียดายหรือเสียใจอะไรเลย...แต่....แต่ข้าพระองค์กลัวพะยะค่ะ"

                "กลัวอะไร"

                "กลัวว่า พระเจ้าปิงคละ พระองค์สวรรคตไปแล้ว ไปตกนรก เพราะความดุร้ายของพระองค์ พระองค์คงจะไปลงมะเหงกพวกยมบาล แล้วพวกยมบาลทนไม่ไหว ก็คงจะส่งพระองค์กลับมาเกิดที่นี้อีก แล้วพระองค์ก็จะมาลงมะเหงกข้าพระองค์อีก พะยะค่ะ"

                - นี่แหละคนที่ไม่มีเกียรติ ย่อมสร้างแต่อาณาจักรแห่งความเกลียดความกลัวให้แก่คนอื่นถึงตายไปแล้ว เขาก็ไม่วายจะเกลียดกลัว

                - ความดีเด่นของเกียรติ เป็นอมตะ ไม่รู้จักตาย เกียรติจึงสูงกว่าชีวิต เพราะชีวิตทุกชีวิตนั้นต้องตาย

เมื่อตายแล้วจะมีอะไรที่ยังเป็นส่วนเหลืออยู่บ้าง ร่างกายทั้งหมดก็จะเปื่อยเน่า ไม่มีใครต้องการถูกแผ่นดินกลบ ที่เคยรัก เคยชอบพอกัน ก็จะกลับเป็นเกลียดกลัวกันเสียด้วยซ้ำ ยิ่งรักกันมากก็ยิ่งกลัวกันมาก ถ้าจะว่ากันตามเป็นจริงแล้ว ร่างกายของคนเรานี้ เมื่อตายแล้วไม่มีค่า ไม่มีราคาเลย เวลาเป็น ๆ อยู่ก็แต่งกันเป็นหมื่นเป็นแสน แต่เวลาตายแล้ว ให้เปล่า ๆ ก็ไม่มีใครเอา สู้สัตว์เดรัจฉานมันไม่ได้ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย หมู เป็ด ไก่ เป็นต้น สัตว์พวกนี้ เวลามันเป็น ๆ อยู่ร่างกายมันก็มีค่า มีราคา ซื้อขายกันได้ เวลามันตายแล้ว เนื้อหนัง กระดูกของมันทุกส่วน ก็เป็นประโยชน์แก่คนซื้อขายกันด้วยราคาแพง ๆ แทบจะไม่มีขายอยู่แล้ว   แต่ช่างเถอะ ถึงแม้ว่ามนุษย์เราจะสู้สัตว์มันไม่ได้ในด้านราคาค่าตัวก็ตาม เราก็ยังมีทางที่ดีกว่าพวกสัตว์อยู่อย่างหนึ่ง คือ คนเราสามารถทำความดีได้ ทำความดีขึ้นและทำได้อย่างกว้างขวาง ความดีนี้แหละเป็นค่าของคนเราที่จะเอาชนะค่าของสัตว์ได้ ดังนิพนธ์ของ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ประพันธ์ไว้ว่า            

                                      พฤษภกาสร                  อีกกุญชรอันปลดปลง

                                โททนต์เสน่งคง                   สำคัญหมายในกายมี

                                นรชาติวางวาย                     มลายสิ้นทั้งอินทรีย์

                                สถิตทั่วแต่ชั่วดี                     ประดับไว้ในโลกา

                - ใครมีความดีไว้มากเท่าไร ราคาค่าตัวของเขาก็ยิ่งมากเท่านั้น แม้บุคคลนั้นจะล้มตายไปแล้ว ความดีของเขาก็ยังอยู่ มีผู้กล่าวขวัญถึง มีผู้เคารพกราบไหว้สักการะ เช่น พระพุทธเจ้า พระเยซู และพระมะหะหมัด เป็นต้น อนุสาวรีย์ทั้งหลายเขาสร้างไว้ให้เป็นเกียรติประวัติแก่ผู้ทำความดีเท่านั้น จึงเป็นอันรวมความว่า เกียรติคือคุณงามความดี เท่านั้น ที่เป็นอมตะยั่งยืนอยู่คู่ดินฟ้า ไม่มีวันเสื่อมสลาย

คุณธรรมที่ก่อให้เกิดเกียรติ

                - สิ่งที่ก่อให้เกิดเกียรติ คือความดี หรือคุณธรรม นั้น มีหลายประการ แต่ที่สำคัญที่สุดนั้น ก็คือ "ความสัตย์" ความสัตย์เป็นต้นตออันแรกที่จะทำให้เกิดเกียรติ เพราะถ้ามีความสัตย์แล้ว ความดีอื่น ๆ ก็จะเกิดติดตามมาเอง ความสัตย์เป็นแก่นแท้ของชีวิตที่มีค่าเหมือนต้นไม้มีแก่น เป็นไม้ที่มีค่า มีราคามาก คนที่ไม่มีสัจจะ หรือความสัตย์เป็นแก่นของชีวิต ก็เป็นคนที่มีค่าตัวน้อย หรือเกือบจะไม่มีราคาค่าตัวเลย เหมือนต้นไม้ที่ไม่มีแก่น ใช้ประโยชน์ได้น้อย เช่นต้นกล้วย ต้นมะพร้าว เป็นต้น อย่างดีก็ใช้ได้แต่ผลเท่านั้น และก็ราคาค่าตัวไม่เท่าไร สู้ต้นสัก ต้นเต็งรังเขาไม่ได้ เขาเป็นไม้มีแก่น ขายได้เป็นเงินแสนเงินล้าน ดังนั้น สัจจะหรือความสัตย์จึงเป็นคุณธรรมชั้นพื้นฐานที่ก่อให้เกิดเกียรติ...

                " สัจเจนะ   กิตติง   บัปโปติ"             แปลว่า    บุคคลจะมีเกียรติได้เพราะสัจจะ

                - คนที่มีเกียรตินั้น จะเป็นคนที่มีจิตใจสูงและเข้มแข็ง อดทน ในยามคับขันเขาก็กล้าที่จะเสียสละชีวิตได้ แต่จะไม่ยอมเสียสัตย์เป็นอันขาด อุดมคติของเขา คือ "เสียชีพอย่าเสียสัตย์" ถ้าเราจะดูให้รู้ซึ้งถึงจิตใจของบุคคลผู้มีเกียรติ จะต้องดูจากโคลงบทนี้ คือ

                                                     เสียสินสงวนศักดิ์ไว้                    วงศ์หงส์

                                                เสียศักดิ์สู้ประสงค์                              สิ่งรู้

                                                เสียรู้เร่งดำรง                             ความสัตย์ ไว้นา

                                                เสียสัตย์อย่าเสียสู้                 ชีพม้วยมรณา ฯ

พาลีเมื่อต้องศรพระราม ก่อนตายได้กล่าวสอนสุครีพผู้น้องไว้อย่างจับใจว่า

                                                     จงดูเยี่ยงอย่างพี่ผู้มีสัตย์

                                                ไม่กำหนัดชีวินเท่าเกสา

                                                ไม่ควรตายจึงเสียดายชีวา

                                                อันควรม้วยมรณาอย่าอาลัย.             

การรักความสัตย์ คือการรักษาคำมั่นสัญญา เมื่อได้ให้สัตย์ปฏิญาณต่อใครแล้ว ต้องรักษาและกระทำตามที่พูดไว้ การรักษาคำพูดเป็นการเริ่มต้นของเกียรติในตัวบุคคล ใครรักษาคำพูดได้ คนนั้นก็เป็นคนมีเกียรติ

การทำคำมั่นสัญญาเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ตามที่ตนต้องการ แล้วก็ให้ทิ้งคำมั่นสัญญาเสีย นั่นเป็นการทำลายเกียรติของตนเองอย่างร้ายแรงที่สุด ผู้มีเกียรติจะยอมตายเสียดีกว่าทำลายคำมั่นสัญญาของตัวเอง

การกระทำสัตย์ปฏิญาณของทหาร

                การกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพลของทหาร ซึ่งเรียกกันว่า "สาบานธง" เป็นการกระทำสัตย์ปฏิญาณครั้งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของทหาร พิธีสาบานธงเป็นพิธีที่สำคัญที่สุด ทหารที่ได้เข้าพิธีสาบานธงแล้ว ถือว่าได้มอบกายถวายชีวิตแก่ประเทศชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จึงได้รับความนิยมนับถือว่า ได้เป็นทหารอย่างสมบูรณ์ เป็นทหารอย่างแท้จริง พิธีสาบานธง กระทำต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์  คือ  ธงไชยเฉลิมพล อันเป็นที่รวมแห่งมิ่งขวัญของกองทัพ บนยอดธงชัยเฉลิมพล มีพระยอดธงอันศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานอยู่ และดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของพระสยามเทวาราชเจ้า สถิตคุ้มครองรักษาอยู่ ธงไชยเฉลิมพลจึงเป็นมิ่งขวัญอันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของกองทัพ นอกจากนั้น ในพิธีสาบานธงยังมีธงชาติ มีพระพุทธรูป พระสงฆ์ และพระบรมฉายาลักษณ์ประดิษฐานไว้ในพิธีด้วย พระสงฆ์ได้มาสวดพระพุทธมนต์อันเป็นสิริมงคลอีกด้วย ทหารได้ให้คำสาบานตนต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ เพราะฉะนั้น ทหารจึงต้องรักษาคำสัตย์ปฏิญาณของตนไว้ยิ่งกว่าชีวิต

                - ความสัตย์ที่ถูต้องนั้นเป็นคุณธรรม จะต้องมีประโยชน์และถูกต้องอยู่ในตัวจึงจะมีเกียรติ ส่วนผู้ที่กระทำสัตย์ปฏิญาณในทางที่ผิดไร้ประโยชน์นั้น ไม่ก่อให้เกิดเกียรติแต่ประการใด

                - ผู้มีเกียรติ รักเกียรติ จะรักษาเกียรติของตนไว้ได้ตลอดไปนั้น จะต้องละเว้นสิ่งต่อไปนี้ คือ

                                - ไม่ยอมทำสิ่งที่ผิดที่เลวทราม

                                - ไม่กดขี่ข่มเหงรังแกคนที่อ่อนแอกว่า

                                - ไม่ทำให้สตรีต้องอับอายขายหน้า

                                - ไม่ทรยศต่อผู้ที่ไว้วางใจ

                และต้องปฏิบัติตามสิ่งต่อไปนี้ คือ

                                - จะต้องเชื่อฟังและทำในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น

                                - แม้จะประสบความลำบาก ก็ยอมทนทุกข์ แต่ไม่ยอมทิ้งเกียรติ

                                - รักษาความสัตย์ยิ่งกว่าชีวิต

สรุป

                - รวมความว่า ผู้มีเกียรติจะต้องเป็นผู้มีจิตใจสูงส่งด้วยคุณธรรม

                - ให้ทหารซักถาม หรือ ซักถามทหาร

                - ย้ำความสำคัญของเกียรติ

                - กล่าวสรุป

สิ่งที่มีเสน่ห์และมีอำนาจที่จะโน้มน้าวจิตใจคนให้หันมารักใคร่ นิยมยกย่อง เคารพยำเกรงนั้น มีค่าสูงกว่าเงินทอง มีอำนาจมากกว่าอาวุธ  ประเสริฐกว่าลาภ ยศ ไม่สามารถจะซื้อเอาได้ด้วยเงินตรา สิ่งนั้นก็คือ "เกียรติศักดิ์"

                                เกียรติ เป็นอาภรณ์เครื่องประดับอันสง่างาม ยิ่งกว่าอาภรณ์ใด ๆ ในโลก

                - เกียรติ  ทำคนให้เป็นอมตะไม่รู้จักตาย

                - เกียรติ  เรียกร้องให้คนเคราพบูชา และ

               - เกียรติ  เรียกร้องให้คนเขาสร้างอนุสาวรีย์ไว้เป็นที่ระลึกตลอดไป..

-------------------------

วินัยทหาร

กล่าวนำ

                                     บวชเป็นพระละศีลก็สิ้นค่า

                                บุรุษไซร้ไร้วิชาสิ้นราศี

                                เป็นนักรบไร้วินัยก็สิ้นดี

                                ถึงสตรีไร้มรรยาทก็ขาดงาม.

                                     กองทัพเดินได้ด้วยท้อง

                                คุมกันอยู่ได้ด้วยระเบียบวินัย

                                มีความอุ่นใจด้วยมีอาวุธ

                                แต่จะรบชนะข้าศึกได้ด้วยขวัญและกำลังใจ..

                - พระพุทธรูปที่เราเคารพสักการะกราบไหว้บูชาอยู่ทุกวันนี้ ถ้าจะว่าตามฐานะเดิมจริง ๆ ก็คือ โลหธาตุ พวกทองเหลือง ทองแดง เป็นต้น เหล่านี้เอง แต่ก่อนอาจจะเป็นขันแตก ทัพพีหัก    หรือภาชนะทองเหลือง ทองแดง ชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งเราไม่ใช้กันแล้ว คือเป็นของหมดค่าหมดราคา หมดความหมาย เราเห็นขันแตก ทัพพีหัก เราไม่เคยเคารพบูชา กราบไหว้ แม้แต่ความคิดจะกราบไหว้ก็ไม่เคย...นั่นเพราะอะไร? ก็เพราะนั้นมันขันแตก ทัพพีหัก.... แล้วเรื่องอะไรเราจะไปหลงกราบหลงไหว้...แต่นั้นแหละขันแตกใบนั้น ทัพพีหักอันนั้น เราบริจาคให้ช่างเขาไปเข้าเตาหลอมแล้วหล่อเป็นองค์พระ   บัดนี้ ขันแตกทัพพีหัก กลายฐานะจากเดิมมาเป็นองค์พระพุทธรูปเสียแล้ว....เราเห็นเกิดศรัทธาความเลื่อมใสอยากกราบไหว้ เคารพบูชา....

                - ธงไตรรงค์ของชาติไทย มี ๓ สี คือ ขาว แดง น้ำเงิน ความจริงก็เป็นเพียงผ้า ๓ สีเท่านั้น ซึ่งอยู่ที่ไหน ๆ ก็มีและมีมากด้วย แต่เราไม่เคยหลงทำความเคารพ สีแดงของผ้าในร้านขายผ้า เห็นผู้หญิงนุ่งกระโปรงแดง ๆ ทาแก้มแดง ๆ ทาปากแดง ๆ ทาเล็บแดง ๆ เราก็ไม่เคยหลงทำความเคารพ โดยเข้าใจว่า นั่นชาติเดินมา....เรารู้ เราทราบ เราทำความเคารพเฉพาะสีแดง ขาว น้ำเงิน ที่เป็นผืนแผ่นธงไตรรงค์ของชาติเท่านั้น...

                - เพราะเหตุใด? เราจึงเคารพกราบไหว้ทองเหลือง ทองแดง ที่เป็นองค์พระพุทธรูป และเพราะเหตุใดเราจึงเคารพผ้าขาว แดง น้ำเงิน ที่เข้าอยู่ในแบบของธงชาติ เพราะเป็นเครื่องหมายของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

ขยายความ

                - เพราะฉะนั้น "แบบ" จึงเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการกำหนดเปลี่ยนแปลงฐานะของสิ่งต่าง ๆ ให้มีค่า มีราคา ทั้งนี้แล้วแต่แบบดีหรือแบบเลว แบบเปลี่ยนทองเหลือง ทองแดงเป็นองค์พระ แบบเปลี่ยนผ้าแดง ขาว น้ำเงิน เป็นธงชาติ หรือแบบเปลี่ยนชาวบ้านธรรมดาให้เป็น พระสงฆ์ ทหาร หรือตำรวจ เป็นต้น

                "แบบ" คืออะไร? แบบก็คือ "วินัย" ได้แก่กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ แบบธรรมเนียม คำแนะนำ คำสั่ง คำชี้แจง แจ้งความ ตราไว้เพื่อควบคุมหมู่คณะหรือหน่วยทหาร เรียกสั้น ๆ ว่า "วินัยทหาร"

ความจำเป็นของวินัย

                ความจำเป็นของวินัยนั้น เกิดมาจากการอยู่ร่วมกันของชุมชนหมู่มาก ซึ่งต่างกันโดยฐานะ ชาติตระกูล ขนบประเพณีและนิสัยใจคอ หากขาดวินัยเป็นเครื่องควบคุมแล้ว ก็จะขาดระเบียบ ขาดความเรียบร้อย ขาดความสวยงาม เพราะต่างคนก็จะทำอะไรไปตามนิสัย และอัธยาศัยที่ตนชอบ เมื่อเป็นเช่นนั้น การงานที่ทำร่วมกันก็จะเสียผล ทั้งความสงบสุขของหมู่คณะนั้นก็หามีไม่ ถ้างานที่รับผิดชอบร่วมกัน เป็นงานของชาติ เช่นทหารเรากระทำอยู่ ก็จะส่งผลเสียมาถึงประเทศชาติด้วย ดังนั้น เพื่อความเรียบร้อยของงานในหน้าที่ เพื่อความสงบสุขของหมู่คณะ ตลอดจนสังคม ประเทศชาติ จึงจำเป็นต้องมีวินัยเป็นเครื่องควบคุม       ดอกไม้ต่างสีต่างชนิด ที่นำมาร้อยเป็นพวงมาลัย อาศัยเส้นด้ายเป็นเครื่องควบคุมร้อยรัดไว้เป็นกลุ่มก้อนสวยงาม น่าดูน่าชม เป็นที่นิยมต้องการของผู้ที่ได้พบเห็น ในการซื้อขาย ดอกไม้ที่ร้อยเป็นพวงมาลัยแล้ว ก็มีค่ามีราคาสูงกว่าดอกไม้ธรรมดา

                ทหารเรามาจากต่างพ่อต่างแม่ ต่างฐานะ ต่างตระกูล และต่างอัธยาศัยจิตใจกัน แต่อาศัยระเบียบวินัยอันเป็นเสมือนหนึ่งเส้นด้ายควบคุมให้เป็นระเบียบเรียบร้อย มีความองอาจ กล้าหาญ สง่างาม เพิ่มคุณค่าในตัวขึ้นอีกมาก เหมือนภาวะความเป็นองค์พระพุทธรูปและภาวะคือ แบบของธงชาติเปลี่ยนฐานะทองเหลือง ทองแดง จากขันแตก ทัพพีหักที่ไม่มีคุณค่า ให้กลายเป็นองค์พระที่มีคนกราบไหว้เคารพบูชา และเปลี่ยนฐานะผืนผ้า แดง ขาว น้ำเงินธรรมดา มาเป็นแผ่นธงไตรรงค์อันศักดิ์สิทธิ์ของชาติ เป็นที่เคารพสักการะของคนทั้งชาติ

                บุคคลผู้เคารพต่อกฎหมาย และระเบียบวินัย แบบแผนของหมู่คณะนั้น ย่อมไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว มากกว่าประโยชน์ส่วนรวม การอันใดแม้จะเป็นประโยชน์ส่วนตัว แต่ฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของสังคม เขาจะไม่ยอมทำการอันนั้นเป็นอันขาด แม้จะเสียชีวิตก็ยอม....ตัวอย่างเช่น.

                พันท้ายนรสิงห์ นายท้ายเรือพระที่นั่งของพระเจ้าเสือ สมัยกรุงศรีอยุธยา พายเรือพระที่นั่งชนตลิ่ง จนหัวเรือพระที่นั่งหัก เป็นการผิดกฎมนเทียรบาลอย่างหนึ่ง มีโทษถึงประหารชีวิต แม้จะไม่มีเจตนาก็ตาม พันท้ายนรสิงห์รู้ตัวว่าตนผิด จึงยอมถวายชีวิตแด่พระเจ้าเสือ ขอให้ทรงลงพระอาญาแก่ตน เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างของคนอื่นต่อไป แต่พระเจ้าเสือทรงเห็นว่า พันท้ายนรสิงห์มิได้แกล้ง เป็นการสุดวิสัยที่เขาจะบังคับไว้ได้เท่านั้น และเขาก็เป็นคนดี เคารพเชื่อฟัง ไม่เคยฝ่าฝืนระเบียบวินัย มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความจงรักภักดีมาตลอด จึงทรงพระราชทานอภัยโทษให้...แต่พันท้ายนรสิงห์ไม่ยอมยกโทษให้ตัวเองในความผิดของตนครั้งนี้ เพราะเกรงว่าถ้ายอมความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายก็จะน้อยลง ต่อไปคนจะไม่เคารพกฎหมาย เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายจึงขอให้ลงอาญาตนเสีย....

                ในที่สุด พระเจ้าเสือก็ต้องยอมลงอาญา เพราะไม่ทรงสามารถจะทัดทานเขาไว้ได้แล้ว ก็ให้สร้างศาลไว้เป็นที่ระลึกจนกระทั่งทุกวันนี้

                นี่แหละคือผู้ที่มีระเบียบวินัย ย่อมเป็นผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว ยอมเสียสละแม้กระทั่งชีวิตของตน เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของระเบียบวินัย อันจะเป็นการผดุงไว้ซึ่งความเรียบร้อยของหมู่คณะหรือสังคม....

 

วินัยทหารมีความสำคัญคือ

                ๑. ทำให้ทหารมีความควบคุมกันเป็นปึกแผ่นมั่นคง

                ๒. ทำให้ทหารปกครองบังคับบัญชากันได้

                ๓. ทำให้ทหารมีความสามัคคีกลมเกลียวกัน

                ๔. ทำให้ทหารมีความเข้มแข็งเด็ดขาดสามารถ มีอำนาจเป็นที่เกรงกลัวของศัตรูทั่วไป

                ๕. ทำให้ทหารสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ผลดี

                ๖. ทำให้ทหารมีเกียรติเป็นที่รักใคร่นับถือของคนทั่วไป

ผลเสียของทหารเมื่อไม่มีวินัย

                ๑. ควบคุมกันเป็นปึกแผ่นมั่นคงไม่ได้

                ๒. บังคับบัญชากันไม่ได้

                ๓. ขาดความสามัคคีกลมเกลียวกัน

                ๔. อ่อนแอ หย่อนสมรรถภาพทุกด้าน

                ๕. ศัตรูไม่เกรงขาม

                ๖. ไม่มีเกียรติ ขาดความรักใคร่นับถือจากคนทั่วไป

                ๗. ในที่สุดอาจทำให้ประเทศชาติล่มจมได้

                ๘. กองทหารที่ขาดวินัย ก็เหมือนกองโจร

วินัยคืออะไร คือระเบียบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

                - ข้อบังคับ คือบัญญัติที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการอันเป็นกำหนดแบบแผน เพื่อปฏิบัติเป็นการยั่งยืน

                - กฎ        คือส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัติ ซึ่งอนุมัติให้รัฐมนตรีออก (อาศัยความตามพระราชบัญญัติ)

                - ระเบียบ   คือวิธีการอันเป็นกำหนดแบบแผน เพื่อให้ปฏิบัติตาม เป็นการยั่งยืน แต่เรื่องที่สั่งนั้นสำคัญแก่การจะวางเป็นข้อบังคับ

                - คำแนะนำ คือการชี้ทางปฏิบัติให้

                - คำสั่ง      คือบรรดาข้อความที่สั่งการใด ๆ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

                - แจ้งความ  คือวิธีโฆษณาอย่างหนึ่งอย่างใดให้ทราบ

เมื่อรวบรวมแล้ว วินัยก็คือ ระเบียบควบคุมคนในสังคม ให้มีความสงบเรียบร้อยและมีความสุขนั่นเอง

วินัยทหาร ได้แก่ระเบียบข้อบังคับอันเป็นหลักความประพฤติของทหาร ซึ่งวางไปเป็น ๒ สถานคือ

                ๑. เป็นข้อห้ามไม่ให้กระทำสถานหนึ่ง

                ๒. เป็นข้อสั่งการให้กระทำตามสถานหนึ่ง

ทั้ง ๒ ข้อนี้ เป็นระเบียบของทหารทุกชั้นยศ ต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด กล่าวคือ ไม่ฝ่าฝืนข้อที่ห้ามและไม่ขัดขืนข้อที่สั่งการเป็นอันขาด

สรุป

                - ย้ำความสำคัญและความจำเป็นที่ทหารต้องมีวินัย

                - วินัยทหารสำคัญอย่างไร

                - ถ้าทหารไม่มีวินัยจะเป็นอย่างไร

                - ให้มีความเข้าใจ และมีความเคารพรักในความเป็นผู้มีวินัย

                - นักกีฬา นักรบที่ปราชัย เพราะขาดวินัย

                - ประเทศชาติที่ขาดความสงบสุข เพราะคนในชาติ ขาดระเบียบวินัย ไม่เคารพกฎหมายบ้านเมือง

                - ทหารที่ขัดขืนคำสั่ง ไม่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา คือผู้ที่ขาดวินัย

                เพราะฉะนั้น วินัยจงเป็นหลักความประพฤติที่วางไว้ควบคุมหมู่คณะ ให้มีความสุภาพเรียบร้อย มีความประพฤติอันดีงาม มีความเข้มแข็ง มีสมรรถภาพอันสูงส่ง เช่น วินัยของพระ       วินัยของข้าราชการพลเรือน วินัยตำรวจ วินัยทหาร ตลอดถึงกฎหมาย และจารีตประเพณีอันดีงามของชาติบ้านเมือง แม้ที่สุดขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น และภายในตระกูลในบ้าน หากขาดวินัยแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะมีหลักปกครองคนหมู่มากได้

                - วินัย เป็นเหมือนโน้ตดนตรีที่ให้นักดนตรีเล่นเพลงได้เสนาะเพราะพริ้ง

                - วินัย เป็นเหมือนด้ายร้อยพวงมาลัยให้เป็นระเบียบ

                - วินัย เป็นเหมือนเส้นบรรทัดที่คอยจัดระเบียบแห่งตัวหนังสือให้สวยงาม

                - วินัย เป็นเหมือนแบบฉบับที่คอยหล่อหลอมสิ่งต่าง ๆ ให้มีค่ามีราคามากขึ้น

                                                "เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงต้องมีวินัย"

---------------------

ShareThis

 

 

 

 

 

 

ความอดทน (ความฝันอันสูงสุด)

view

 กองทัพบก

 ยศ.ทบ.

กองอนุศาสนาจารย์ ยศ.ทบ.

ศูนย์การเรียนรู้ มทบ.๑๕

ฝอศจ.จทบ.ร.บ.

view